แรงงานต่างด้าวทำอาชีพ “ขายของหน้าร้าน” ได้แล้ว ตั้งแต่ 20 มิ.ย.นี้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ล่าสุด

14627
แรงงานต่างด้าวทำอาชีพ

แรงงานต่างด้าวทำอาชีพ “ขายของหน้าร้าน” ได้แล้ว ตั้งแต่ 20 มิ.ย.นี้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ล่าสุด ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ออกประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของ หน้าร้านกับนายจ้าง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

โดยงานขายของหน้าร้านกำหนดคุณสมบัตินายจ้างที่จะรับคนต่างด้าวเข้าทำงานจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ หรือในกรณีร้านค้าที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ให้นายจ้างแสดงใบอนุญาต หนังสือรับรอง หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ เพื่อประกอบพาณิชย์กิจ และนายจ้างต้องรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านตามหลักสัดส่วน สูงสุดไม่เกิน 20 คน ซึ่งพิจารณาจากหลักเกณฑ์การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ที่กำหนดสัดส่วนการรับคนต่างด้าวได้ตั้งแต่ 1 – 10 คน ตามมูลค่าภาษีเงินได้ที่ได้ชำระแล้ว โดยกรณีที่รอบปีภาษีที่ผ่านมาได้ยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้และได้รับยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินได้ สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้  1 คน กรณีที่ชำระภาษีเงินได้ตั้งแต่ 1 – 50,000 บาท สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้ 3 คน และในกรณีที่ชำระภาษีเงินได้เกินกว่า 50,000 บาท ทุก ๆ 50,000 บาท จ้างคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านเพิ่มได้ 1 คน ทั้งนี้ ไม่เกิน 10 คน และหากต้องการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเกินกว่า 10 คน ให้นำหลักเกณฑ์การจ้างงานมาใช้พิจารณา คือ นายจ้างที่มีลูกจ้างคนไทย 30 คน สามารถรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเพิ่ม ได้ 1 คน และถ้ามีการจ้างคนไทยเพิ่มทุก ๆ 10 คน ให้รับคนต่างด้าวได้อีก 1 คน ซึ่งรวมทั้ง 2 หลักเกณฑ์แล้วนายจ้าง จะสามารถรับคนต่างเข้าทำงานขายของหน้าร้านได้ไม่เกิน 20 คน

ส่วนการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรนั้น ไม่ได้กำหนดเรื่องสัดส่วนจำนวนคนต่างด้าวที่จะรับคนต่างด้าวเข้าทำงานไว้  แต่คนต่างด้าวจะมีสิทธิทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านได้ ก็ต่อเมื่อในใบอนุญาตทำงานระบุสิทธิว่า สามารถทำงานกรรมกรหรืองานขายของหน้าร้านได้เท่านั้น  โดยในงานขายของหน้าร้านต้องระบุนายจ้างด้วย

ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว คนต่างด้าวและนายจ้างจะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยคนต่างด้าวจะมีความผิดตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท และเมื่อได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรส่วนนายจ้างจะมีความผิดตามมาตรา 9 สำหรับการกระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และหากเป็นการกระทำความผิดครั้งที่สองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 ถึง 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาล มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ

สาหรับกรณีที่ใบอนุญาตทำงาน ยังไม่ได้ระบุสิทธิว่าสามารถทำงานกรรมกร หรืองานขายของหน้าร้านได้  นายจ้าง/สถาน ประกอบการสามารถยื่นคำขอเปลี่ยนหรือเพิ่มประเภทงานกรรมกร หรืองานขายของหน้าร้านในใบอนุญาตทำงาน ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10  ที่เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ หรือโทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  ได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน  นายสุชาติฯ กล่าว

Cr. สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 กรมประชาสัมพันธ์