ครม.เห็นชอบเสนอพื้นที่ อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

1953
ถ้ำหลวง ขุนนางนอน

ครม.เห็นชอบเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

วันนี้ ครม.เห็นชอบเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park (AHP)) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศหลายแบบ เช่น ป่าดิบชื้น ป่าเขาหินปูน และป่าพรุ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด มีพืชเฉพาะถิ่นและพืชหายาก เช่น บัวผุด ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ เขาหินปูนขนาดใหญ่ 3 ลูก ตั้งอยู่ผืนน้ำสีเขียวมรกตของเขื่อนรัชชประภา ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และมีวิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิม

ขุนนางนอน เชียงราย

อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศหลากหลายเฉพาะตัว เช่น ป่าเบญจพรรณ สังคมพืชริมน้ำ ฯลฯ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด มีลักษณะภูมิประเทศทั้งเทือกเขาสูง เขาหินปูน และตะลักพักน้ำ ซึ่งเป็นที่ราบแคบ มีระดับลดหลั่นกันลงมาเหมือนขั้นบันได มีระบบนิเวศถ้ำที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณะ โดยเฉพาะถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของไทย (ระยะ 10,316 เมตร) และมีลักษณะของภูเขาเรียงตัวกันคล้ายกับรูปผู้หญิงนอน มีปล่องโพรงเป็นจำนวนมาก มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ สระมรกต มีลักษณะเป็นน้ำสีเขียวแกมฟ้ามรกตที่ไหลออกมาจากถ้ำทรายทองและรอยแตกของภูเขาบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ มีชุมชนและชนเผ่าชาติพันธุ์อยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่ ถึง 10 ชาติพันธุ์ เช่น อาข่า ไทใหญ่ เป็นต้น ทำให้เป็นพื้นที่หลากหลายทางวัฒนธรรม

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1)อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกาศเมื่อ พ.ศ.2527 2)อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกาศเมื่อ พ.ศ.2527 3)กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2546 4)กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2546 5)อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2562 6)อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2562

ทั้งนี้ อุทยานมรดกแห่งอาเซียน มาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาสังคมและวัฒนธรรมแห่งอาเซียน โดยต้องมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว มีความหลากหลาย มีคุณค่าโดดเด่นคู่ควรแก่การอนุรักษ์ มีคุณสมบัติที่แสดงถึงความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ ความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมีขอบเขตทางกฎหมายที่ชัดเจน

สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานผู้ประสาน จะจัดส่งเอกสารการนำเสนอพื้นที่ให้กับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เพื่อนำเสนอเอกสารให้กับคณะผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินการตรวจสอบ ประเมินพื้นที่ และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป

ข่าวจากรองโฆษกรัฐบาล