ก.สาธารณสุข เพิ่มมาตรการป้องกันไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด หลังพบมีการระบาดหนัก คร่าชีวิตคนไปแล้ว 62 ราย

2526

กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มมาตรการ ให้คำปรึกษาไข้เลือดออก (Dengue corner) ในโรงพยาบาลในสังกัด เพื่อคัดกรอง ติดตาม ดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด หลังพบมีการระบาดหนัก คร่าชีวิตคนไปแล้ว 62 ราย

     นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยประชาชน ทุกภาคส่วน และจิตอาสา ได้ร่วมกันรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน อย่างไรก็ดี ในปีนี้ครบวงรอบการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งปกติระบาดปีเว้นปีหรือสองปี จึงได้กำชับให้ทุกจังหวัดเข้มข้นมาตรการเดิม เช่น จัดให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ดูแลกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ลดการเสียชีวิต เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน หญิงตั้งครรภ์ ขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิก ไม่ให้จ่ายยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDS : Nonsteroidal anti-inflammatory drug) เช่น แอสไพริน ในผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออก เพราะอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกมากขึ้น และเพิ่มมาตรการให้โรงพยาบาลในสังกัด จัดตั้งมุมให้คำปรึกษาไข้เลือดออก (Dengue corner) เพื่อคัดกรอง ติดตาม ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด ระบบให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจัดอบรมแพทย์จบใหม่ในการวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกโดยเฉพาะ เพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดของโรคไข้เลือดออก

     ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว อาการเด่นคือ ไข้สูงเฉียบพลัน แต่ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจะมีเลือดออกที่อวัยวะภายในร่างกาย เช่น ทางเดินอาหาร ตับ ม้าม หรือไตวาย มีโอกาสเกิดภาวะช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นขอให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ ห้ามใช้ยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด โดยปกติอาการจะดีขึ้นหลังไข้ลด กินอาหาร ดื่มน้ำได้ ปากไม่แห้ง ปัสสาวะปกติ แต่หาก 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง อ่อนเพลีย ซึมลง ปัสสาวะสีเข้ม หรือไข้ลดแล้วแต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

     ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 มิถุนายน 2562 พบ ผู้ป่วยไข้เลือดออก 35,482 ราย เสียชีวิต 62 ราย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ข้อมูล : กระทรวงสาธารณะสุข