หมอเผยเคสผู้ป่วยหญิง เจอ “ก้อนเนื้องอกในเต้านม” หนัก 2.4 กิโลกรัม มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆและไม่มีอาการปวด แนะหากพบก้อนเนื้อควรรีบพบแพทย์ทันที
เฟซบุ๊ก Arak Wongworachat ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความถึงเคสผู้ป่วยที่พบก้อนเนื้อในเต้านม “ผู้ป่วยน่าสนใจ phyllodes tumor 2.4 กิโลกรัม”
โดยระบุว่า เคสผู้ป่วยหญิง อายุ33ปี รู้สึกว่าคลำได้ก้อนเต้านมซ้ายมาสามปีเริ่มจากขนาดเล็กๆ ค่อยๆโตขึ้น ไม่ปวด แต่บางครั้งมีเลือดออกจากหัวนม เต้านมสองข้างโตไม่เท่ากัน จึงไปพบแพทย์ ตรวจพบว่าก้อนมีขนาดโตมาก วัดขนาดได้ประมาณ 23 เซนติเมตร เจาะเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ อ่านผลออกมาว่าเป็น phyllodes tumor จึงนัดผ่าตัด หลังผ่าเอาก้อนเนื้อชั่งน้ำหนักได้ถึง 2.4 กิโลกรัม ผู้ป่วยหลังผ่าตัดแผลดีมาก บอกโล่งอก เบาตัว
ก้อนเนื้องอกชนิดนี้พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าก้อนเนื้อมะเร็ง ปัจจุบันนี้พบว่าเนื้องอกชนิดนี้มีความรุนแรงได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่รุนแรงอะไรเลย (benign phyllodes tumor) คือเทียบเท่าเนื้องอกไม่ร้ายแรง คือโตไม่เร็ว เซลล์แบ่งตัวอยู่ในระดับต่ำ ไปจนถึงพวกที่รุนแรงมาก (malignant phyllodes tumor) เซลล์แบ่งตัวในอัตราสูง ขยายขนาดลุกลามกัดกินเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบได้ แต่อย่างไรก็ตามเนื้องอกชนิดนี้ไม่ใช่มะเร็ง (cancer) จึงไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ พูดง่ายๆก็คือโตอยู่กับที่ มีการกัดกินเนื้อเยื่อไปโดยรอบ ทำให้สร้างความยุ่งยากในการรักษาอยู่เหมือนกัน หากเนื้องอกทำลายผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อหน้าอกเป็นบริเวณกว้าง ต้องใช้วิธีการผ่าตัดขั้นสูงในการแก้ไข ซึ่งบางครั้งรักษายากกว่ามะเร็งเต้านมเสียอีก ปัญหาอีกอย่างของเนื้องอกชนิดนี้คือ สามารถกลับเป็นซ้ำที่เต้านมได้สูง ซึ่งเกิดได้ในกรณีที่ผ่าตัดออกไปได้ไม่หมด เช่นกรณีผ่าแล้วก้อนแตกเละเป็นชิ้นๆ หรือผ่าตัดโดยมีปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมปกติห่อหุ้มน้อยเกินไป ทำให้ขอบรอยตัดยังมีเซลล์ตกค้างอยู่เป็นต้น
ข้อเตือนใจ เมื่อใดก็ตามที่มีอาการผิดปกติ คลำได้ก้อนที่เต้านมให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป หากเป็นเนื้อมะเร็งอาการยิ่งรุนแรง
ข้อมูล-ภาพ : Arak Wongworachat