วัดสวนดอกหรือวัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่
วัดสวนดอกสร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น “พระอารามหลวง” เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาเถระสุมน” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” 1 ใน 2 องค์ ที่ “พระมหาเถระสุมน” อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)
พ.ศ. 2429
ในสมัย ราชวงศ์มังราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอก ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ พระมหาสุมนะเถระกับพญากือนาเป็นประธาน พร้อมกันก่อพระมหาชินะธาตุ เจดีย์ห่อหุ้มด้วยสุวรรณทองคำคล้ายกลุ่มดอกบัวที่พระองค์ทรงสุบินนิมิตฝัน เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าสถิตไว้ในพระมหาเจดีย์ แต่ก่อนที่จะเอาพระบรมธาตุบรรจุนั้น พญากือนากับพระมหาสุมนเถระ ได้ทรงอาราธนาพระบรมธาตุใส่ในโกศทองคำอันงามประณีตวิจิตรแล้วทรงสรงพระธาตุเจ้า ขณะเดียวกันนั้นพระบรมธาตุเจ้าก็แสดงปฏิหาริย์ให้สว่างไสวรุ่งเรืองงามยิ่งนัก ปรากฏแก่พญากือนาพร้อมทั้งบริวารทั้งปวง พระบรมธาตุได้แตกเป็นสององค์ สามองค์ และหลายองค์ลอยวนเหนือผิวน้ำ เต็มโกศทองคำเป็นสีต่าง ๆ มีสีนาก สีทองคำ สีมุก เสด็จลอยวนเหนือผิวน้ำ พญากือนากับทั้งบริวารทั้งปวงเห็นอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ก็น้อมนมัสการสักการบูชา หลังจากนั้นพญากือนาและพระมหาสุมนเถระเอาพระบรมธาตุออกจากโกศสรงน้ำมัน จึงได้พบพระบรมธาตุเพียงสององค์ องค์หนึ่งเล็ก อีกองค์หนึ่งเป็นดั่งปกติมีสี สันฐานวรรณะเสมอกัน พระมหาสุมนะและพญากือนาจึงอาราธนาพระบรมธาตุองค์ดั่งปกติเสมอเก่า บรรจุใส่ในโกศแก้วประพาฬอันเก่านั้น แล้วเอาโกศทองคำใส่โกศเงินโกศทองเหลืองลงออกมาใส่โกศดินเป็นลำดับซ้อนกันดุจดั่งเมื่อขุดครั้งแรกนั้นแล ส่วนอีกองค์หนึ่งนั้นพญากือนาเก็บรักษาไว้ แล้วก็สถาปนาพระบรมธาตุเจ้าใส่ไว้ในพระมหาเจดีย์ และทรงสร้างเจดีย์บริวารอีกเจ็ดองค์ ซุ้มประตูโขงพระเจดีย์ชั้นในและก่อกำแพงคูหาปราการโขงขั้นนอก พญากือนาได้เอาราชเรือนหลวงของพระองค์มาสร้างมหาวิหารหลังหนึ่งอันประณีตวิจิตรงดงามยิ่งพระมหาสุมนเถระก็ได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติปกครองวัดบุปผาราม โดยเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก พระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์จึงเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ในกาลครั้งนั้นพระภิกษุสามเณรในพิงคนครและบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ในล้านนา มีเชียงตุง สิบสองปันนา เชียงแสน เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน หริภุญชัย ฯลฯ พากันเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะบาลีภาษาเป็นจำนวนมาก แล้วกลับเอาไปเผยแผ่ในภูมิลำเนาบ้านเกิดของตน พระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์เป็นอันประดิษฐานตั้งมั่นเป็นอันดีแล้วในล้านนาไทยประเทศ
กู่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสถานที่บรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ.2490 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก เมื่อพ.ศ. 2474-2475 และเพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่สถานที่บรรจุอัฐิ ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ถึงพระองค์สุดท้าย พระประยูรญาติ ในตระกูล ณ เชียงใหม่ และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน เมื่อ พ.ศ.2452 ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
ในปี พ.ศ. 2451-2452 พระราชชายาดารารัศมีทรงพิจารณาเห็นว่า (กู่) อนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระประยูรญาติทั้งหลายตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันตก (ตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุ) เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในฤดูฝน น้ำก็มักจะเข้าไปท่วมขังอยู่เป็นประจำ จึงย้ายมาตั้งไว้ที่วัดสวนดอกจนตราบทุกวันนี้
พระเจ้าเก้าตื้อ
พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ศิลปะแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.70 เมตร หล่อด้วยทองสำริด ซึ่งมีน้ำหนัก 9 ตื้อ สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ.2047 เพื่อเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ เมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชักลากเข้าเมืองได้ จึงได้ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
ประวัติการสร้างพระเจ้าเก้าตื้อ
ลุปี พ.ศ.2047 (จ.ศ.866) พระเมืองแก้วได้ทรงหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ ในวันพฤหัสบดี เดือน 3 (เดือน 5 เหนือ) ขึ้น 8 ค่ำได้ฤกษ์ 7 ตัว ชื่อปุณณะพสุดาวพิดานสำเภาทอง ที่หล่อพระพุทธรูปนั้นมีน้ำหนัก 1 ตื้อ คือ หนึ่งโกศตำลึง (ฝีมือช่างเชียงแสนที่ประณีตงดงามที่สุด หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูงแต่ฐานถึงยอดพระโมฬี 4 เมตร 70 เซนต์) มีที่ต่อ 8 แห่ง นับเป็นท่อนได้ 9 ท่อน นับตั้งแต่ลงมือหล่อพระพุทธรูป จนตกแต่งให้เป็นเงางามเรียบร้อยทุกประการ เป็นเวลานานถึง 5 ปี พ.ศ.2052 (จ.ศ.871) พระเมืองแก้วจึงทรงได้เสด็จราชดำเนินเป็นประธาน พร้อมด้วยหมู่เสนาอำมาตย์ มุขมนตรี เศรษฐีกฎุมพี ไพร่ราษฎ์ทั้งปวงและราชทูตแห่งท้าวพญาสามัญประเทศทั้งปวงทรงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นสถิตประดิษฐานเหนือรัตนบัลลังก์ ในพระอุโบสถวัดบุปผาราม อันชนทั้งหลายเรียกว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ” นั้นแล พระมหาสังฆเถระราชาชั้นผู้ใหญ่ที่อาราธนานิมนต์มาอบรมสมโภชพระพุทธรูป มีจำนวน 1,000 รูป พระมหากษัตริย์เมืองแก้วทรงจัดการเป็นงานมหกรรมอันมโหฬารยิ่ง ถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั่วทั้ง 1,000 รูป พระมหาเถรสังฆราชาและเสนาอำมาตย์ประชาราษฎ์ทั้งมวลประกาศเฉลิมพระนามพระเจ้าเมืองแก้วว่า “พระเจ้าสิริทรงธรรมจักรพรรดิ์ราช”
นับตั้งแต่พระเจ้าสิริทรงธรรม ได้สร้างพระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้เหนือบัลลังก์อุโบสถวัดบุปผารามสวนดอกนั้น กิตติศัพท์อภินิหารก็เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ มีภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา นักบุญทั้งหลายเดินทางมานมัสการมิได้ขาด เหตุเพราะพระพุทธรูปเจ้านั้นมีอิทธิปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยแรงอธิษฐาน และสวยงามมาก พระปฏิมากรพระเจ้าเก้าตื้อ มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อย่างอัศจรรย์ใจ สามารถบันดาลให้ผู้ศรัทธาเลื่อมใสประสบสิ่งอันพึงปรารถนา และสรรพมิ่งมงคล ใครมีความกลัดกลุ้มใจเศร้าหมองขุ่นมัว จิตเร่าร้อนกระวนกระวาย เมื่อได้มานั่งบูชาอธิษฐานตรงหน้าพระพักตร์พระเจ้าเก้าตื้อ เพ่งใจเป็นสมาธิ ส่งสายตาไปที่พระวรกายและพระพักตร์พระเจ้าเก้าตื้อ ทันใดนั้นเองด้วยฤทธิ์อันลี้ลับประหลาด เสมือนหนึ่งพระเจ้าเก้าตื้อฉายแสงธรรมรังษีเข้าไปขับไล่แปรสภาพจิตใจของผู้เพ่งพิศดู ขจัดขับไล่สิ่งเศร้าหมองขุ่นมัวความกลัดกลุ้มที่เกาะดวงใจให้หายไปอย่างประหลาด กลายเป็นเย็นระรื่นชุ่มชื่นเบิกบานใจอย่างประหลาดอัศจรรย์ เสมือนองค์พระเจ้าเก้าตื้อจะเผยโอษฐ์ยิ้มแย้ม ราวกับว่าพระองค์จะตรัสพระปราศรัยแก่ผู้เพ่งดู พร้อมกันนั้นเหมือนองค์ท่านลอยเข้าไปประทับอยู่ในเรือนใจของผู้เพ่งดู และจะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจสบายอารมณ์ยิ่งนัก
มีตำนานเล่ากันว่า มักจะมีผู้มาอธิษฐานขอบุตรและปรารถนาสิ่งต่างๆ มักจะประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการ พระปฏิมากรเก้าตื้อสำเร็จด้วยวัตถุเจตนา พิธีกรรมอันบริสุทธิ์สะอาด และด้วยพลังแรงอธิษฐานของผู้มีใจสะอาดสูงทรงคุณธรรม จึงเป็นพระพุทธปฏิมากรอันศักดิ์สิทธิ์และประณีตงดงามเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง และควรแก่การเคารพสักการะมาแต่โบราณกาล ทำให้มีผู้มานมัสการมิได้ขาดจนสถานที่พักไม่พอ จึงเป็นเหตุให้หมื่นจ่าบ้านพร้อมทั้งนักบุญทั้งหลายสร้างศาลาไว้ที่หน้าพระอุโบสถ ไว้เป็นที่พักแก่ผู้จาริกมาแสวงบุญทั้งหลาย
แม้ปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนจากกทุกสารทิศที่มาเที่ยวเมืองเชียงใหม่ จะขาดเสียมิได้ที่จะมากราบไหว้ปูชาพระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอกแห่งนี้ เพราะพระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์ของเมืองเชียงใหม่ที่งดงามที่สุดในล้านนา โดยมีน้ำหนักที่คำนวณได้จากมาตราชั่งของไทย 126,000 กิโลกรัม (1 ตื้อ= 1,400 กิโลกรัม)
พระวิหารหลวงมีขนาดความกว้าง 12 วา 2 ศอกยาว 33 วาสร้างเมื่อพ.ศ.2474-2475 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีลักษณะพิเศษคือเป็นวิหารโถงไม่มีฝาผนังมีแต่ระเบียงโดยรอบหน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงามขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
อ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
www.watsuandok.com