กระทรวงแรงงาน เผย ‘ครม.’ เห็นชอบมาตรการพิเศษ บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้อยู่และทำงานในไทยต่อถึง 31 มี.ค. 65 ป้องกันเป็นพาหะแพร่ โควิด ระลอก 2
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ให้แรงงานต่างด้าว 4 กลุ่ม ที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน แต่การอนุญาตสิ้นสุด และไม่สามารถเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักร เนื่องจากมาตรการปิดจุดผ่านแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และให้ทำงานได้เป็นกรณีพิเศษ โดยต้องดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด
“ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายลงแล้ว แต่คาดว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง และหลายภาคส่วนได้ให้ข้อสังเกตว่า การอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร อาจเป็นความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ถึงแม้ว่าภาครัฐจะได้กำหนดมาตรการในการคัดกรอง กักตัว ตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามานายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรทำได้ยาก ประกอบกับ ยังมีแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งที่เดิมได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และได้รับอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และการอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุด ที่ยังคงอยู่ในประเทศ และนายจ้างมีความประสงค์จะจ้างงาน ให้สามารถทำงานได้ โดยมายื่นขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนที่กำหนด กับกรมการจัดหางาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากการนำคนต่างด้าวรายใหม่เข้ามา เนื่องจากระยะหลังพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน จึงเสนอแนวทางการดำเนินการดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ” นายสุชาติฯ กล่าว
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานต่างด้าวที่สามารถดำเนินการตามแนวทางนี้ได้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MoU ซึ่งครบวาระการจ้างงาน 4 ปี กลุ่มที่ 2) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัวได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (TD) เอกสารรับรองบุคคล (CI) ที่ใบอนุญาตทำงานและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 กลุ่มที่ 3) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MoU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50,53,55 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อาทิ ออกจากนายจ้างรายเดิม แต่ยังหานายจ้างรายใหม่ไม่ได้ภายใน 30 วัน เป็นต้น กลุ่มที่ 4) แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งครบวาระการจ้างงาน และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด
ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 1 – 3 จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ การขอตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa) และการทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) จะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่สามารถขอต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565
“กรมการจัดหางาน ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งที่ผ่านมาได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงื่อนไขการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและการได้รับอนุญาตให้ทำงานเป็นกรณีพิเศษนี้จะสิ้นสุดเมื่อ ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุด แรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือเป็นโรคที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรและทำงาน” นายสุชาติฯ กล่าว