ชวนชม “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” คืนวันแม่ 12 ส.ค. 63 นี้ ตกสูงสุดประมาณ 110 ดวงต่อชั่วโมง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยคืนวันแม่ 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้า 13 สิงหาคม 2563 มีปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” อัตราการตกสูงสุดประมาณ 110 ดวงต่อชั่วโมง คืนดังกล่าวมีแสงจันทร์รบกวนตลอดปรากฎการณ์ ประกอบกับตรงช่วงฤดูฝน จึงสังเกตได้ค่อนข้างยาก
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า คืนวันที่ 12 สิงหาคม 2563 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม จะเกิดปรากฎการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือที่มักเรียกกันว่า “ฝนดาวตกวันแม่” มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 60-110 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากในคืนดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์กึ่งข้างแรม มีแสงจันทร์รบกวนตลอดปรากฏการณ์ จึงสังเกตการณ์ได้ค่อนข้างยาก
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย