ศธ. ออกหนังสือด่วน! ให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เปิดรับฟังความคิดเห็นนักเรียน-นักศึกษา พร้อมสั่งทบทวนระเบียบทรงผม
วันที่ 20 สิงหาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการ โดยนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัด ศธ. รักษาราชการแทนปลัด ศธ. ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เรื่อง การเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยให้ทุกส่วนราชการแจ้งหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับ ดำเนินการตามแนวทางการเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับ “การพัฒนาระบบการศึกษาและการเมือง” ดังนี้
- ให้สถานศึกษา เปิดรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษา โดยนักเรียนนักศึกษาแสดงความคิดเห็นผ่านกิจกรรมของสภานักเรียน หรือองค์กร/กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้แทนนักเรียนนักศึกษาในระดับสถานศึกษา ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาคำนึงถึงการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษา
- ผู้บริหารสถานศึกษา นำข้อเสนอของนักเรียนนักศึกษา เสนอต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ หน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ หน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ ดำเนินการรวบรวมและจัดทำสรุปผลการเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษา ในภาพรวมของจังหวัด เสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัด
- หัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัด จัดทำสรุปผลการเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษาในภาพรวมของหน่วยงาน และขอความอนุเคราะห์จัดส่งข้อมูลมายัง สำนักบูรณาการกิจการการศึกษา สป. ที่อีเมล tujirapon@gmail.com ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 เพื่อเสนอผู้บริหารกระทรวงต่อไป
อนึ่ง การปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2563 สถานศึกษาได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวตามข้อ 7 แตกต่างกันไป จนเกิดปัญหาต่อนักเรียนนักศึกษาบางส่วน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนรายละเอียดของระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ ในขั้นต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายขอให้งดการดำเนินการตามระเบียบข้อ 7 ไปพลางก่อน
ในการนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาแล้ว เห็นสมควรแจ้งหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับ รับทราบและดำเนินการตามแนวทางการเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษาดังกล่าวข้่างต้น เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560