รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมจัดหางานทำงานเชิงรุก รวบรวมตำแหน่งงานว่างรองรับคนว่างงาน เกือบ 100,000 อัตรา เร่งผลักดันสางปัญหาว่างงานในทุกภาคส่วน เนื่องจากผลกระทบพิษโควิด-19
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ ตระหนักถึงปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศ เร่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ทุกมิติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทันที ชี้ ผลพวงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบถึงสถานการณ์การจ้างงานทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เผย ขณะนี้รวบรวมตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ว่างงานได้แล้ว 91,444 อัตรา ยกระดับฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังพิษโควิด -19 “รัฐบาลโดยการนำของ ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้นให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นกับประชาชน และไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งทันทีที่ได้รับมอบหมายจาก ท่านนายกรัฐมนตรี ทางกระทรวงแรงงานได้จัดการวางแนวทางแก้ไขปัญหาการว่างงานและ เร่งดำเนินอย่างเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานอย่างเร่งด่วนทันที โดยขณะนี้ กรมการจัดหางานได้ เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้ว่างงานได้แล้ว 91,444 อัตรา แบ่งเป็น ดังนี้
1) เปิดตลาดในต่างประเทศ โดยได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของตลาดงานต่างประเทศจำนวนมาก เพราะรัฐบาลไทยมีการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ได้ดี ผู้ติดเชื้อในประเทศไม่มีติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เป็นโอกาสดีในการขยายตลาดแรงงาน โดยขณะนี้มีการส่งแรงงานไปในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ ไต้หวัน โดยมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน พบว่ายังมีตำแหน่งงานที่ยังว่างอยู่ สำหรับส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 49,077 อัตรา ใน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาลาเซีย สิงคโปร์ และ อิสราเอล ซึ่งกระทรวงแรงงานจะประสานงานใกล้ชิดกับอีกหลายประเทศ เพื่อส่งคนไทยไปทำงานในอาชีพใหม่ๆ ได้ทันทีหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
2) ตำแหน่งงานในประเทศทั่วประเทศทั้งในภาคเอกชนจากระบบ Smart Job ที่เป็นงานประจำ และงาน part-time รวมทั้งตำแหน่งงานว่างในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม จำนวน 42,367 อัตรา (ข้อมูลจาก กองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน กรมการจัดหางาน) ซึ่งตำแหน่งงานทั้งหมด ครอบคลุมทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป
โดยจากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่าตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศที่นายจ้างต้องการมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิต 2.แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ , แรงงานทั่วไป 3.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่น ๆ 4.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่น ๆ 5.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน 6.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่น ๆ 7.พนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 8.พนักงานขับรถยนต์ 9.พนักงานคลังสินค้าอื่นๆ 10.พนักงานดูแลความปลอดภัย, พนักงานรักษาความปลอดภัย(ยาม) ขณะที่ ตำแหน่งงาน part-time โดยส่วนใหญ่ต้องการ 1.แรงงานด้านการผลิต 2.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่น ๆ 3.เจ้าหน้าที่เก็บเงิน,แคชเชียร์ 4.เจ้าหน้าที่ขนส่งอื่นๆ 5.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่น ๆ 6.แรงงานในด้านการผลิตต่างๆ, แรงงานทั่วไป 7.พนักงานขายทอดตลาด 8.เจ้าหน้าที่สินเชื่อ,เจ้าหน้าที่การเงิน 9.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 10.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน),พนักงานขายของหน้าร้าน ส่วนตำแหน่งงานว่างในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม ประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ ; แรงงานทั่วไป 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 3.พนักงานบริการอื่นๆ 4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ 5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่น ๆ 9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี , ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี , ยาง , พลาสติก, โพลิเมอร์, สี , กระดาษ , น้ำมัน , เส้นใย , อาหารและเครื่องดื่ม) 10.เจ้าหน้าที่การตลาด และอื่นๆ (ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่น ๆ, แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ, ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า , ฯลฯ) และ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยในพื้นที่ เร่งหาตำแหน่งงานใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยทำงานเชิงรุก เดินหน้าเข้าหาสถานประกอบการ หาตำแหน่งทำงานที่ว่าง และ matching งาน ให้แก่ผู้ว่างงาน รวมทั้งมีการฝึกทักษะอาชีพ พร้อมสนับสนุนเบี้ยเลี้ยง โดยมีศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ เป็นศูนย์บัญชาการกลาง” นายสุชาติฯ กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังได้วางแนวทางใช้ platform ชื่อ “ไทยมีงานทำ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสภาพัฒน์กับแบงค์ชาติ ร่วมกันจัดทำ ตามนโยบายของ ท่านนายกรัฐมนตรี “เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะ ซึ่งจะรวบรวมตำแหน่งงานว่างจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ โครงการเงินกู้กว่า 400,000 ตำแหน่ง เพื่อให้บริการประชาชน พร้อมการสมัครฝึกอบรมทั้ง online และ classroom เป็น platform เบ็ดเสร็จสำหรับการส่งเสริมการมีงานทำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะสามารถให้บริการประชาชนได้ภายในสิ้นเดือนนี้นอกจากนี้ ทางรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานและกระทรวงต่างๆ ยังได้ ระดมกันจัดทำโครงการเพื่อจ้างงาน สร้างรายได้ เกือบ 100,000 อัตรา รองรับการแก้ปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตร เป็นต้น สำหรับกระทรวงแรงงาน ในปีงบประมาณ 2564 ได้ขอจัดสรรเพื่อดำเนินโครงการจ้างงานให้กับประชาชน จำนวน 30,000 อัตรา เช่นกัน
นายสุชาติ ชมกลิ่น กล่าวตอนท้ายว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ตลาดแรงงานในประเทศไทยมีความผันผวน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ตระหนักว่า หากแรงงานในประเทศ ไม่มีงานทำนั้น ย่อมจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของคนในประเทศ อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไป ถึงภาคส่วนอื่นๆ ทางรัฐบาล จะเร่งวางแนวทางและดำเนินมาตรการให้ครอบคลุมและให้ได้ผลดีที่สุดกับพี่น้องภาคแรงงานทุกกลุ่ม ให้ได้กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานให้ได้มากที่สุด และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปในแนวทางที่ดีขึ้น เพราะว่าประเทศไทย เป็นที่1 ในโลก ที่แก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนกิจการต่างๆในประเทศสามารถเปิดเป็นปกติได้เกือบ 100% แล้ว เป็นที่อิจฉาของนานาประเทศทั่วโลก