กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากการทำฟันเถื่อน เน้นย้ำอย่าเห็นเพียงแค่ความสะดวก และราคาถูก อาจเสี่ยงติดเชื้อถึงแก่ชีวิตได้ แนะประชาชนที่จำเป็นต้องรับบริการทำฟันหรือ ทำฟันปลอม ควรปรึกษาและเข้ารับบริการในคลินิกที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และมีทันตแพทย์เป็นผู้ให้การรักษาเท่านั้น
นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงอันตรายจากการทำฟันเถื่อน ว่า ปัจจุบันมีผู้รับทำฟันเถื่อนจำนวนมาก ทั้งที่เปิดเป็นร้านที่มีสถานที่ตั้งแน่นอน หรือหิ้วกระเป๋าเครื่องมือไปทำตามบ้าน โดยอ้างว่าใช้วัสดุคุณภาพเดียวกันกับทันตแพทย์ แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถพิสูจน์หรือทราบแน่ชัดว่า วัสดุเหล่านี้ได้มาตรฐานหรือเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีความสะอาดปลอดภัยหรือไม่ และอาจจะเป็นวัสดุที่หมดอายุแล้ว วัสดุอันตรายหรือไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งผู้รับบริการส่วนใหญ่ที่ใช้บริการทำฟันแบบนี้ โดยเฉพาะการทำฟันปลอมเถื่อนแทนการรักษากับทันตแพทย์มักให้เหตุผลว่า เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา สามารถรอรับฟันปลอมได้ทันที และราคาถูกกว่ารับการรักษากับทันตแพทย์ แต่ความสะดวกสบายเหล่านี้ไม่คุ้มค่ากับอันตรายที่อาจได้รับหลังการรักษา ดังนั้น หากจำเป็นต้องทำฟันหรือทำฟันปลอม ควรปรึกษาทันตแพทย์หรือเข้ารับบริการในคลินิกที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และมีทันตแพทย์เป็นผู้ให้การรักษาเท่านั้นเพื่อสุขภาพช่องปากที่ปลอดภัย
ทางด้าน ทันตแพทย์ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อให้กับบุคคลที่แอบอ้างเป็นทันตแพทย์หิ้วกระเป๋าเข้าไปอุดฟันและทำฟันปลอมให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งการอุดฟันดังกล่าวเป็นการใช้สารพลาสติกสีขาวและกาวแปะปิดรูผุบนซี่ฟัน ไม่มีการใช้เครื่องมือกำจัดเนื้อฟันที่ผุออก หากปล่อยทิ้งไว้นานเนื้อฟันผุจะลุกลามเข้าสู่โพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวดหรือเกิดเป็นฝีหนองที่ปลายรากฟันทำให้ต้องถอนฟันในที่สุด หรือหากเป็นการทำฟันปลอมจะใช้วิธีการปั้นสารคล้ายพลาสติกเป็นฐานและรูปร่างฟันคล้ายซี่ฟันจริง วางทับบนเหงือกและยึดกับฟันซี่ข้างเคียงที่เหลืออยู่ในช่องปาก บางครั้งไม่ได้สนใจว่ามีโรคอะไรในช่องปากบ้าง ยิ่งเป็นฟันปลอมแบบติดแน่นไม่สามารถทำความสะอาดได้ จะเป็นเหล่งสะสมเชื้อโรค หากปล่อยทิ้งไว้นานจะเกิดเหงือกอักเสบ บวมแดง มีกลิ่นเหม็นเน่า อาจรุนแรงถึงขั้นมีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกร ฟันซี่ข้างเคียงที่ถูกยึดติดผุ โยก เกิดการสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น อีกทั้งอาจได้รับอันตรายจากวัสดุที่ใช้อุดฟันหรือทำฟันปลอม อาจมีสารระเหยตกค้าง เกิดการระคายเคืองในช่องปาก หรือเป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากได้
Cr. กรมอนามัย