คุมเข้มชายแดน จังหวัดตาก – จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระดมติดลวดหนาม-วงจรปิด-บินโดรน-ซุ่มสกัดต่างด้าว กันโควิด-19 ระบาดซ้ำ!
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวตกงานเดินทางกลับบ้านเกิดในห่วงที่ผ่านมา กระทั่งไทยประกาศผ่อนคลายมาตรการ แรงงานต่างด้าวบางส่วนจึงพยายามลักลอบกลับเข้ามาในไทยตามช่องทาง/ท่าข้ามธรรมชาติตามแนวชายแดนโดยไม่ผ่านกระบวนการกักตัว (State Quarantine) จนเกิดความหวั่นวิตกว่าจะมีการระบาดซ้ำอีกทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องวางมาตรการคุมเข้มตามแนวชายแดนภาคเหนือทุกจุด
ตามนโยบาย นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้กองกำลังป้องกันชายแดนทุกกองทัพภาค มีมาตรการควบคุมต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโควิด – 19 ระลอก 2 ของประเทศเพื่อนบ้าน
พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3/ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 มอบหมายให้ พลตรี อุกฤษฎ์ นุตคําแหง ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร เพิ่มความเข้มงวด กำชับทุกพื้นที่อย่างจริงจัง ในการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา – 2019
กองกำลังนเรศวร ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ จังหวัดตาก (หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4) และจังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17) ได้ใช้ทรัพยากรทั้งเครื่องมือและกำลังพล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด CCTV บริเวณช่องทาง/ท่าข้าม, การวางเครื่องกีดขวางลวดหนามหีบเพลง, การใช้โดรนเฝ้าตรวจตามแนวชายแดน, การลาดตระเวนเฝ้าตรวจตามแนวชายแดนทั้งทางพื้นดินและทางน้ำ, การซุ่มเฝ้าตรวจในพื้นที่, การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดกั้น แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความรักใคร่กลมเกลียวกัน ที่แสดงถึงความสามัคคี อันจะนำมาซึ่งภารกิจต่างๆ จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา – 2019 อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร เปิดเผยว่า กองกำลังนเรศวร จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพิ่มมาตรการเข้มข้นในการสกัดกั้น 5 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหา คือ
1.ติดตั้งไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ในช่องทางที่ล่อแหลม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
2.ทำเครื่องกีดขวาง และปรับปรุงลวดหนามบริเวณช่องทางและท่าข้ามน้ำตามธรรมชาติ
3.เพิ่มเติมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ตามช่องทาง ท่าข้ามที่ล่อแหลม และการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดตามเส้นทางตามแนวชายแดนและทางภูเขา
4.ประชาสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนตามแนวชายแดน ในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ทั้งการแจ้งเบาะแส และการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
5.ประสานไปยังประเทศเมียนมา ผ่านคณะกรรมชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ในการให้ความร่วมมือในการสกัดกั้นแรงงาน
ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร เชื่อว่า มาตรการที่ออกมาจะแก้ไขการลักลอบข้ามพรมแดนได้ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กองกำลังนเรศวร จับกุมแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ลักลอบเข้ามา ตามช่องทาง-ท่าข้ามธรรมชาติ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในการคัดกรอง ก่อนที่จะผลักดันกลับประเทศต้นทาง ตามกระบวนการของตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ได้กำหนดมาตรการ การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด บนเส้นทางหลัก/เส้นทางรอง และจัดกำลังร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพื่อป้องกันการลักลอบหลบหนีจากบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนเข้ามายังพื้นที่ตอนในของประเทศ การปิดล้อมตรวจค้นแหล่งหลบซ่อน/พักพิง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตามแหล่ง ที่พักพิงชั่วคราวในบริเวณพื้นที่หมู่บ้านตามแนวชายแดน และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้นำชุมชน และประชาชนในหมู่บ้านตามแนวชายแดน
cr. สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 กรมประชาสัมพันธ์