กระทรวงการคลัง ปฏิเสธข่าวจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างได้อีก 3 เดือน ยันเงินคงคลังยังมีเพียงพอ
วันที่ 14 กันยายน 2563 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ และเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างรวมทั้งประเด็นปัญหาหนี้เสีย (Non-Performing Loans: NPLs) ของสถาบันการเงินดังนี้
ประเด็นการงดจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการเดือนกันยายน 2563 และกระทรวงการคลังจะสามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างได้อีกเพียง 3 เดือนนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการไม่ได้มีการงดจ่าย แต่เป็นเพียงการเลื่อนจ่ายเนื่องจากมีการปรับปรุงยอดงบประมาณให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในเดือนกันยายนซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการจ่ายเงินดังกล่าวในปีงบประมาณ2563โดยขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อมาจ่ายเงินดังกล่าวแล้วและกรมบัญชีกลางจะได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ์ต่อไปโดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้
สำหรับกรณีเงินเดือนข้าราชการนั้นรัฐบาลได้จัดสรรค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของบุคลากรภาครัฐไว้อย่างเพียงพอแล้วตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี และขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ทั้งนี้เงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เพียงพอเพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรหรือรายได้อื่นๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศได้ตามปกติ และโฆษกกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังมีแหล่งเงินที่เพียงพอ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐและดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงประเด็นปัญหา NPLsของสถาบันการเงินว่า รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวและได้ดำเนินการโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา NPLs ของผู้ประกอบการและประชาชนโดยเน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Preemptive Debt Restructuring) และรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาNPLsโดยกลไกดังกล่าวจะเป็นการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ อันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดระยะเวลาสัญญาจะไม่เพิ่มขึ้นแต่จะทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายต่องวดลดลงซึ่งแตกต่างจากการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ที่ลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้ในช่วงที่มีการพักชำระหนี้ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดสัญญาสูงขึ้นทั้งนี้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และรวมหนี้มีรายละเอียดดังนี้
1. โครงการDR BIZ กำหนดให้มีกลไกบรรเทาและจัดการหนี้ธุรกิจของลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (Multi-Creditors) ซึ่งเป็นการลดภาระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อันจะเป็นการรักษาการจ้างงานและส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ
2. โครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) กำหนดแนวทางให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถรวมหนี้ประเภทต่างๆที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเช่นบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อเป็นต้นมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้รวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้ลูกหนี้มีภาระหนี้ลดลงโดยการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเช่นสินเชื่อบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับทำให้ลูกหนี้มีภาระในการผ่อนชำระหนี้ลดลงนอกจากนี้การขยายระยะเวลาการชำระหนี้หรือการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่ทำให้ลูกหนี้เสียประวัติข้อมูลเครดิตรวมทั้งยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหลือได้
กระทรวงการคลังคาดว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างดีเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโครงการดังกล่าวจะช่วยรักษาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และป้องกันปัญหาNPLs ในระบบสถาบันการเงินนอกจากนี้ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเช่นโครงการเราเที่ยวด้วยกันเป็นต้นและมีแผนที่จะดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ
สำหรับประเด็นการกันสำรองของสถาบันการเงินกรณีที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นNPLs นั้นในทางปฏิบัติเมื่อสถาบันการเงินมีการกันสำรองเมื่อลูกหนี้เป็นNPLs สถาบันการเงินจะเป็นผู้เก็บเงินไว้เองโดยไม่ต้องส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใดโดยการกันสำรองของสถาบันการเงินเป็นการดำเนินการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่สามารถติดตามหนี้ได้ซึ่งเป็นกลไกบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฐานะทางการเงินและกระทบต่อเงินฝากของประชาชน