ฝนถล่มหนักพื้นที่ อ.สันป่าตอง “กาดงัว(ตลาดนัดทุ่งฟ้าบด)” น้ำท่วมหนัก ด้านเจ้าหน้าที่เร่งติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชนรับมือผลกระทบจากพายุ

34346

ฝนถล่มหนักพื้นที่ อ.สันป่าตอง “กาดงัว(ตลาดนัดทุ่งฟ้าบด)” น้ำท่วมหนัก ด้านเจ้าหน้าที่เร่งติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชนรับมือผลกระทบจากพายุ

ช่วงเย็นวันที่ 18 ก.ย. 63 รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่ขณะนี้ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งว่าในพื้นที่ประเทศไทยจะมีผลกระทบจากพายุโซนร้อน “โนอึ” และขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมไปถึงเตรียมการรับมือไปแล้วนั้น ล่าสุดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่วันนี้ พบว่าช่วงเย็นที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ .สันป่าตอง .เชียงใหม่ ที่มีรายงานว่าฝนที่ตกลงมาอย่างหนักนั้นส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายจุด โดยขณะที่ตอนนี้ บนโซเชียล ได้มีสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อว่า “หนุ่ม วังทอง” ได้มีการถ่ายภาพบรรยากาศภายหลังฝนตก บริเวณ “กาดงัว (ตลาดนัดทุ่งฟ้าบด) ” ที่เกิดมีน้ำท่วมขังอย่างหนักบนท้องถนน ภายหลังจากที่เกิดมีพายุฝนตกลงมาได้ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยตลอดเส้นทางถนนมีน้ำท่วมขังส่งผลทำให้การจราจรในบริเวณดังกล่าวยานพาหนะเคลื่อนที่ค่อนข้างล่าช้า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งอำนวยความสะดวก และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันในส่วนของพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่นั้นก็พบว่าได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้ฝนก็ได้ทิ้งช่วงหยุดแล้ว และคาดว่าจะมีผลพวงจากพายุเข้ามาอีกเป็นระลอก

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน นายรักชัย ศรีวน เวรพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 170 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 15.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง บริเวณเมืองดานังจากนั้นจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 3-5 เมตร และอ่าวไทยคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 5 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 21 – 24 กันยายน 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดการเดินเรือในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง

ขณะที่ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรีณัฐพงค์ ฐิตวิกรานต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางศูนย์อุตุนิยมวิทยา ได้มีการประกาศเตรียมพร้อมรับมือพายุโนอึล ในเบื้องต้น ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมในการให้การช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้มีการประสานงานไปยังส่วนช่างสุขาภิบาล สำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ ในการดำเนินการ ลดระดับน้ำคูเมืองลง 50 เซนติเมตร เพื่อเป็นแก้มลิง รับน้ำฝนจากพายุโซนร้อน โนอึล ป้องกันน้ำท่วมขัง ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากทางหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด ตัดแต่งกิ่งไม้และโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้และจัดหาที่กำบังปกคลุมพืชผลทางการเกษตร เมื่อมีพายุเกิดขึ้นให้หลบพายุในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าที่เสี่ยงต่อการล้มทับ ส่วนการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า ให้ประชาชน หลบในอาคารที่มีสายล่อฟ้าและผนังปิดมิดชิด ไม่ประกอบกิจกรรมกลางแจ้งในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่สูงโดดเด่นกลางแจ้ง ไม่พกพาวัตถุที่เป็นโลหะสูงเหนือศีรษะ อาทิ ร่มที่ปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลม ไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน ทอง นาก และทองแดง งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทั้งนี้การเตรียมพร้อมรับมือ และการเรียนรู้วิธีป้องกันอันตรายจากพายุลมแรงและฟ้าผ่า จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นไปด้วยความปลอดภัย