นักวิจัย มช. ค้นพบ “เห็ดพันธุ์อัปสร” เห็ดชนิดใหม่ของโลก
ทีมความหลากหลายทางชีวภาพด้านเห็ดราวิทยา โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สายสมร ลำยอง หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิจัยอีกสองท่าน คือ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า สังกัดสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นผู้ร่วมวิจัยในโครงการ “การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของสวนป่าแม่เมาะ” ภายใต้ทุนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้ดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2559 – 2560 ที่ผ่านมา จากการดำเนินงานในโครงการภายใต้ทุนวิจัยดังกล่าว ทีมวิจัยเห็ดราขนาดใหญ่ได้ค้นพบเห็ดชนิดใหม่ที่เป็นการค้นพบใหม่ของโลก จำนวน 1 ชนิด ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Pleurotus (สกุลที่ใช้เรียกเห็ดนางฟ้า) ซึ่งค้นพบโดย ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และดร.จตุรงค์ คำหล้า นักวิจัยทั้งสองได้ร่วมกันศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา และศึกษาข้อมูลทาง DNA พื้นฐานเพื่อบอกถึงรหัสพันธุกรรม รวมถึงวิวัฒนาการของเห็ดสกุลดังกล่าวจนมั่นใจว่าเป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเสนอทูลขอพระราชทานชื่อสามัญ และขอพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เป็นภาษาละติน “sirindhorniae” ในนามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับพระราชทานชื่อเห็ดชนิดใหม่ดังกล่าว ว่า “เห็ดพันธุ์อัปสร” มีความหมายถึง นางฟ้า จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทีมวิจัยเห็ดราได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของเห็ดชนิดนี้ว่า Pleurotus sirindhorniae sp. nov. Suwannarach N. et al. ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติด้านอนุกรมวิธาน PHYTOTAXA (Suwannarach et al. 2020 volume 460 เลมที่ 4) นอกจากพื้นที่สวนป่าแม่เมาะที่เป็นพื้นที่พบเห็ดพันธุ์อัปสรครั้งแรก ทีมวิจัยยังพบการกระจายของเห็ดพันธุ์อัปสรเพิ่มขึ้นในพื้นที่วิจัยปกปักพันธุกรรมพืช อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาอีกด้วย
เห็ดพันธุ์อัปสร สามารถเพาะเลี้ยงเป็นเส้นใยบริสุทธิ์ได้ในห้องปฏิบัติการ และเป็นเห็ดที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงให้เกิดดอกเห็ด อีกทั้งมีรายงานว่ารับประทานได้ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เจริญได้รวดเร็วในก้อนเห็ดทั่วไปรวมถึงทนอากาศร้อนได้ดีกว่าเห็ดสกุลนางฟ้าชนิดอื่น ในอนาคตทีมวิจัยสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นเห็ดเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยง สร้างรายได้ รวมถึงใช้เป็นสายพันธุ์ต้นแบบเพื่อปรับปรุงพันธุ์ในสภาพทนต่ออากาศร้อนได้ในอนาคต
เห็ดนางฟ้าที่มีรายงานในประเทศไทย ซึ่งเห็ดสกุลนางฟ้า (Pleurotus spp.) ซึ่งมีรูปร่างความคล้ายคลึงกันเห็ดนางรมซึ่งจัดอยู่ในแฟมิลี่ (family) เดียวกัน ในประเทศไทยนิยมเรียกเห็ดนางฟ้าโดยกรมวิชาการเกษตร แต่ในทางวิชาการนั้นยังไม่ได้มีการระบุการเรียกชื่ออย่างแน่ชัด ซึ่งแต่ก่อนมีความเข้าใจกันว่าเห็ดนางรมและนางฟ้าอยู่ในสกุล Pleurotus sajor-caju แต่ปัจจุบันเห็ดสกุลดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนให้จัดอยู่ในสกุล Lentinus sajor-caju (ประเทศไทยเรียกว่าเห็ดตีนปลอก) กลุ่มเดียวกับเห็ดลมบด ด้วยการอาศัยหลักการวิเคราะห์ทางเทคนิคอณูชีวโมเลกุล และในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบเห็ดในสกุลเห็ดนางฟ้า จำนวน ๑๔ ชนิด คือ Pleurotus angustatus (เห็ดนางฟ้าภูฐาน), P. cornucopiae (เห็ดนางรมทอง), P. cystidiosus (เห็ดเป๋าฮื้อ), P. djamor (เห็ดนางนวล, P. eryngii, P. dryinus, P. flabellatus (เห็ดมัน), P. giganteus (เห็ดโต่งฝน), P. ostereatus (เห็ดหอยนางรม), P. platypus, P. pulmonarius, P. salmoneostramineus, P. porrigens (เห็ดนางฟ้าขาวน้อย), และ P. sapidus (เห็ดนางฟ้าขาว) ดังนั้นชนิดที่ ๑๕ ของประเทศไทย คือ P. sirindhorniae (เห็ดพันธุ์อัปสร)
ลักษณะที่แตกต่างของเห็ดสกุลนางฟ้าที่มีการรายงานก่อนหน้านี้กับเห็ดพันธุ์อัปสร
โดยอาศัยการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของดอกเห็ด พบว่าลักษณะดอกคล้ายกับ เห็ดหอยนางรม (P. ostereatus) อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบลักษณะโครงสร้างอื่นๆ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พบว่า เห็ดที่พบนี้มีเซลล์ที่สร้างสปอร์ (basidia) ขนาด 10-18 x 4-5.5 ไมโครเมตร ซึ่ง มีขนาดเล็กกว่าของเห็ดหอยนางรมที่มีขนาด 29-31 x 7-10 ไมโครเมตร และเห็ดที่พบมีขนาดของสปอร์ 5-7.5 x 3.5-4.5 ไมโครเมตร ซึ่งมีขนาดสั้นกว่าของเห็ดหอยนางรมที่มีขนาด 8-13 ? 3-4.5 ไมโครเมตร ซึ่งการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการทางเทคนิคอณูชีววิทยา DNA เป็นข้อมูลสนับสนุนว่าเห็ดพันธุ์อัปสรมีความแตกต่างจากเห็ดนางรมอย่างชัดเจน