เตือนระวัง “มือ-เท้า-ปาก” ระบาดหนัก! แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ป่วยแล้วกว่า 1.7 หมื่นราย

386

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะช่วงปิดเทอมเด็กอยู่บ้าน ขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หากมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว อากาศเริ่มเย็นลง ประกอบกับช่วงนี้หลายโรงเรียนเริ่มปิดเทอมแล้ว เด็กๆ อยู่บ้านกับครอบครัว ผู้ปกครองจึงต้องดูแลบุตรหลานและสังเกตอาการป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่ยังคงต้องระวังเด็กป่วย เนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2563 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2563 มีรายงานผู้ป่วย 17,715 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ แรกเกิด-4 ปี รองลงมาคืออายุ 5 ปี และอายุ 7-9 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สุรินทร์ สงขลา นราธิวาส พัทลุง และยะลา ตามลำดับ

อาการของเด็กที่ป่วยจะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลานในช่วงอยู่บ้านอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กเล็กอาจบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองไม่ได้ วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้  1.ลดการสัมผัสเชื้อ ไม่นำมือที่สกปรกสัมผัสใบหน้า เนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้  2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท  3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น  4.หากบุตรหลานป่วย ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร แยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ หากบุตรหลานมีอาการข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422