ชาวบ้านหอบขยะแลกฝัน เปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ย เทศบาลตำบลท่าศาลาไอเดียกระฉูด ลดปริมาณขยะได้แล้วกว่าร้อยละ 50
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 รายงานข่าวแจ้งว่า ประชาชนจากหลายหมู่บ้านในตำบลท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พากันนำขยะจากครัวเรือนของตัวเองไปยังที่ทำการเทศบาลตำบลท่าศาลา เข้าคิวคัดแยกประเภทและชั่งน้ำหนัก แลกเป็นปุ๋ยหมักรักษ์โลก นำไปใช้ปลูกและบำรุงดินกับแปลงพืชผักสวนครัวของตัวเอง ช่วยลดปริมาณขยะในบ้าน แถมยังไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยมาใช้เอง ช่วยลดต้นทุนประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
สำหรับขยะที่นำไปแลกปุ๋ย ส่วนใหญ่เป็นขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องกระดาษ รวมไปถึงเศษใบไม้และวัชพืชต่าง ๆ ขยะแต่ละประเภทจะได้ราคาแตกต่างกัน แพงสุดคือกระป๋องอะลูมิเนียม ได้ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งชาวบ้านจะได้ปุ๋ยกลับบ้านตามราคาที่ขายได้
นายศิริพัฒน์ กาวิละ นายกเทศมนตรีตำบลท่าศาลา บอกว่า โครงการนี้มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะในชุมชนซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า ขยะจำนวนไม่น้อยที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรค ปัญหาน้ำเสีย กลิ่นเหม็นจากการเผาขยะ และเหตุรำคาญต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่หลังจากเริ่มโครงการนี้มาได้ พบว่าได้รับความสนใจจากประชาชน เนื่องจากส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำให้ชาวบ้านได้ปุ๋ยกลับไปใช้พร้อม ๆ กับลดปริมาณขยะในบ้าน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักให้กับชุมชนไปพร้อมกัน โดยพบว่าปริมาณการจัดเก็บขยะในครัวเรือนในรอบปีที่ผ่านลดลงไปกว่าครึ่ง
ปุ๋ยหมักที่นำมาแจกจ่าย ทำขึ้นมาจากเศษใบไม้และวัชพืชในพื้นที่ตำบล โดยใช้สูตรปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองแม่โจ้วิศวกรรม 1 จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้ได้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบถ้วนและคุณภาพสูงไม่แพ้ปุ๋ยเคมีราคาแพง ซึ่งแต่ละสัปดาห์ทางเทศบาลจะจัดรถไปรับเศษวัชพืชถึงบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน
นอกจากขยะแลกปุ๋ย นายกเทศมนตรีตำบลท่าศาลา ยังต่อยอดเปิดโครงการ “ขยะแลกฝัน” เปิดให้ชาวบ้านได้มาลงทะเบียนไว้ว่าฝันอยากได้อะไร หลังจากนี้ไปเมื่อนำขยะมาแลก นอกจากจะได้ปุ๋ยกลับบ้าน มูลค่าที่ขายได้ยังถูกเปลี่ยนเป็นเงิน 1 บาท ได้ 1 แต้ม เก็บสะสมไว้ในบัญชีของเทศบาล เมื่อจำนวนแต้มสะสมครบตามมูลค่าราคา ทางเทศบาลก็จะมอบสิ่งของให้ตามฝัน เช่น บางคนอยากได้รถจักรยาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็นำขยะมาแลก สะสมแต้มไปจนครบก็จะได้จักรยานไปทันที โดยโครงการนี้มีเป้าหมายขยายให้ครบทั้ง 5,122 ครัวเรือนของตำบล
นางวิไล วิชัยวงค์ หนึ่งในชาวบ้านที่นำขยะมาแลกปุ๋ย บอกว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งนอกจากบ้านจะน่าอยู่ปลอดขยะสะสม ปุ๋ยที่ได้มายังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยมาใช้เอง ส่วนโครงการแลกฝันถือว่าทำให้ชาวบ้านสนใจเข้าร่วมมากขึ้น