รัฐบาลรุกแก้ “ความยากจน-ความหิวโหย” เริ่มที่ภาคการเกษตรเป็นลำดับแรก เชื่อเป็นหนทางสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2/2563 โดยมี นางสาวณัฐธภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม เข้าร่วมการประชุม
การประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากมติการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบและประสานงานหลักการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 17 เป้าหมายหลัก และ 169 เป้าหมายย่อย และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม 2563 สภาพัฒน์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการประชุมในจังหวัดและพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและหารือสถานการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนกลไกความร่วมมือในพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ ซึ่งผลจากการลงพื้นที่พบว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะที่การกำหนดตัวชี้วัดในระดับจังหวัดที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบกำหนดยังไม่ตอบโจทย์สิ่งที่พื้นที่ต้องการ ซึ่งทางสภาพัฒน์ได้ทำการศึกษาและจะนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงตัวชี้วัดระดับจังหวัดให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ต่อไป ขณะเดียวกันจะเร่งสร้างการรับรู้ในพื้นที่ผ่านช่องทางต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำที่ประชุมว่า สิ่งสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องแก้ปัญหา “ความยากจนและความหิวโหย” ของคนทั้งประเทศให้ได้เป็นลำดับแรก โดยคำนึงถึงแผนปฏิรูปประเทศเป็นหลัก ส่วนการประชุมในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้รับฟังความคิดเห็นของคณะทำงาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศครบถ้วนทุกมิติ พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลภาคการเกษตร ทั้งตัวเลขครัวเรือน รายได้แรงงานภาคการเกษตร รวมถึงการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน