สธ.เผยข่าวดี คาดคนไทยได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กลางปีหน้า

133

สธ.เผยข่าวดี คาดคนไทยได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กลางปีหน้า

บ่ายวันนี้ (24 พฤศจิกายน 2563) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าว ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด 19  ว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอของบประมาณและได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 3,700 ล้านบาท เพื่อการจัดหาวัคซีนด้วยวิธีการจองล่วงหน้ากับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน นับเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลทดลองในเบื้องต้นพบว่า วัคซีนวิจัย AZD1222 ที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกันพัฒนา มีประสิทธิผลเกินข้อกำหนดของ WHO โดยการให้วัคซีนแบบแรก คือ ฉีดครึ่งโดสแล้วฉีดตามด้วยอีก 1 โดสหลังจากฉีดครั้งแรก 1 เดือน พบว่าประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 สูงถึง 90% และการให้วัคซีนแบบที่สอง คือ การฉีดวัคซีน 1 โดสแล้วฉีดตามอีก 1 โดสหลังจากฉีดครั้งแรก 1 เดือน พบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ 62% จากการให้วัคซีนทั้ง 2 แบบค่าเฉลี่ยของประสิทธิผลโดยรวมอยู่ที่ 70.4% ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานการรับรองวัคซีนป้องกันโควิด 19 ต้องมีประสิทธิผลไม่ต่ำกว่า 50% นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความปลอดภัยสูง พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน AZD1222 ไม่มีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงหรือต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และมีความปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุ ในขั้นตอนถัดไปบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จะนำเสนอผลการทดลองเบื้องต้นที่สมบูรณ์ (full interim) เพื่อการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต่อไป

“วัคซีนวิจัย AZD1222 มีความพร้อมในเรื่องการเตรียมกำลังการผลิตที่มีฐานการผลิตทั่วโลกและมุ่งหวังที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอแก่ประเทศต่างๆ จัดเป็นความหวังของชาวโลก นอกจากนี้ วัคซีนสามารถจัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในระบบปกติของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้วัคซีนชนิดนี้เหมาะสมที่จะนำมาใช้ได้ในสถานการณ์จริง ทั้งนี้ คนไทยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนชนิดนี้มากกว่าประเทศอื่น คาดว่าจะได้รับวัคซีนกลางปีหน้า เนื่องจากมีความร่วมมือผลิตวัคซีนในประเทศไทยและเป็นโอกาสในการสร้างขีดความสามารถของประเทศเพื่อความมั่นคงในระยะยาว สำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนโควิด 19 อยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563” นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี กับแอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ในการผลิตวัคซีน AZD1222 จำนวนมากโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา นับเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรด้านสาธารณสุขชั้นนำของโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI)  องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) และผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก ผนึกกำลังเพื่อช่วยกันกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและเท่าเทียมโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้ากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยมอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า และมอบให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการจัดทำสัญญาซื้อวัคซีนจากการจองดังกล่าวโดยให้มีผลผูกพันเมื่อได้รับงบประมาณแล้ว โดยครั้งนี้ จะเป็นการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมาย 13 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2564   ซึ่งการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วนี้จะทำให้ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคโควิด 19 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสีย