ยกระดับผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ดีเดย์ 1 ม.ค. 64
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการจัดระบบบริการกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่จะส่งตรงถึงโรงพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็ง ขณะนี้ สปสช.และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2564 ซึ่งได้เตรียมการรองรับทั้งในส่วนของระบบบริการ ระบบข้อมูล และการจ่ายชดเชย
สำหรับระบบบริการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการยกระดับระบบบัตรทอง 4 บริการ ประกอบด้วย 1. คนกรุงรักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น 2. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว เริ่มในเขต 9 นครชัยบุรินทร์ 3. มะเร็งรักษาได้ทุกที่ที่มีความพร้อม 4. ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เป้าหมายทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน เมื่อป่วยที่ไหนแล้วจะสามารถได้รับบริการตรงนั้น ไม่ต้องแยกใช้สิทธิตามหน่วยบริการที่ลงทะเบียน โดยที่หน่วยบริการจะปรับระบบบริการ และระบบข้อมูล ส่วน สปสช. จะปรับระบบการจ่าย ที่สอดคล้องกับระบบบริการ และระบบข้อมูลใหม่ ให้มีความรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม นำไปสู่การที่จะต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน ตามนโยบายของ รมว.สธ.
โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เมื่อประชาชนสิทธิบัตรทองได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จะได้รับทราบข้อมูล ประวัติการรักษา และรายชื่อโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็ง เพื่อสามารถเลือกไปรับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช. 1330 แอปพลิเคชัน สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ลดระยะเวลารอคอยการรักษา ซึ่งโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและความพร้อม จะให้บริการตามมาตรฐานกับผู้ป่วยตามจำนวนที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถรองรับได้ รวมไปถึงการทำ Telehealth, Tele-pharmacy หรือ Home Chemo และส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดจากจาก สปสช.
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กระบวนการขั้นตอนของ สปสช. จะใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดเพื่อตรวจสอบตัวตนผู้ป่วยและยืนยันการเข้ารับบริการ โดยขอบเขตบริการครอบคลุมการตรวจวินิจฉัยและยืนยันผล (confirm diagnosis) การกำหนดแบ่งระยะของโรค (Staging) การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด รังสีรักษา การรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาหรือโรคมะเร็ง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางรังสีเพื่อประเมินผลระหว่างการรักษา และการนัดเพื่อติดตามผลการรักษา (follow up) ตามที่ สปสช. ได้ประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และผู้แทนจากภาคประชาชน ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขร่วมกัน
“นโยบายใหม่นี้ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับประโยชน์ที่สำคัญ คือสามารถเลือกโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาตามที่สะดวก ใกล้บ้าน ได้รับการรักษาตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ต้องกลับไปหน่วยบริการประจำเพื่อขอใบส่งตัว รวมถึงการได้รับการรักษาที่ครบวงจรในหน่วยบริการที่มีศักยภาพ มีคุณภาพมาตรฐาน สะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอย” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 นี้ จะมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และ สปสช.
ทั้งนี้ ข้อมูลหน่วยบริการมีศักยภาพและมีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 228 แห่ง แบ่งเป็นหน่วยบริการเฉพาะด้านรังสีรักษาจำนวน 36 แห่ง หน่วยบริการให้เคมีบำบัดระดับที่ 1 จำนวน 143 แห่ง (และใน 143 แห่ง มีความพร้อมในการให้บริการรักษาที่บ้านสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวน 7 แห่ง) หน่วยบริการให้เคมีบำบัดระดับที่ 2 จำนวน 16 แห่ง หน่วยบริการให้เคมีบำบัดระดับที่ 3 จำนวน 5 แห่ง และหน่วยบริการที่ให้ฮอร์โมน Tamoxifen ในมะเร็งเต้านม จำนวน 28 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2563)