กระทรวงสาธารณสุข ยันจังหวัดที่มีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มาจากท่าขี้เหล็กเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ไม่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 วัน
วันนี้ (15 ธันวาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 10 วันแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา กทม. พิจิตร ราชบุรี และสิงห์บุรี ส่วน จ.เชียงราย แม้ล่าสุดพบผู้ติดเชื้ออีก 3 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้ง และทั้ง 3 รายอยู่ในระบบกักกันของรัฐ ถือว่ามีความปลอดภัยและใช้ชีวิตได้ตามปกติ เดินทางไปท่องเที่ยวได้ กลับมาไม่ต้องกักตัว อย่างไรก็ตาม ที่บริเวณชายแดน ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและปกครองยังคงเข้มงวด
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนการจัดงานคอนเสิร์ตหรืองานรื่นเริงช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่มีพื้นที่ที่มีการระบาด จึงสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยต้องขออนุญาตผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้เสียงต้องขออนุญาตฝ่ายปกครองหรือท้องถิ่น จัดทำแผนมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 เสนอขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดงานที่ปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ 1. ผู้จัดงาน ควรจัดในสถานที่ที่ลดความเสี่ยงการเกิดโรค มีการเว้นระยะห่าง ไม่แออัด คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิว มีแอลกอฮอล์เจลล้างมือ และมีผู้กำกับในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ 2. ประชาชนต้องสวมหน้ากาก ถอดในเวลาที่จำเป็น คือ การดื่มน้ำรับประทานอาหาร สแกนไทยชนะทุกครั้ง หากกลับมามีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้พบแพทย์และแจ้งสถานที่ที่ไป และ 3. เจ้าหน้าที่ต้องมีการตรวจสอบว่าจัดงานเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสมจะแจ้งผู้จัดให้แก้ไข
ยกตัวอย่างเช่น การจัดงานที่เหมาะสมคนแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ ไม่ให้มีการปะปน โดยกลุ่มหนึ่งอาจรวมกันไม่เกิน 10 คน โดยใช้พื้นที่ประมาณ 2 ตารางเมตรต่อคน และจัดระยะห่างระหว่างกลุ่มประมาณ 3 เมตร ก็จะเกิดความปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย หากมีปัญหาจะสามารถดูแลเป็นกลุ่มๆ ได้ง่าย ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะช่วยให้จัดงานได้อย่างมีความสุขในทุกเทศกาล
นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ จำนวน 9 ราย ทั้งหมดเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ หายป่วยเพิ่มขึ้น 9 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 4,246 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 2,463 ราย มาจากต่างประเทศ 1,783 ราย รักษาหายสะสม 3,949 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาล 237 ราย และเสียชีวิตรวม 60 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ เดินทางมาจากสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 2 ราย เอธิโอเปีย สหราชอาณาจักร โรมาเนีย เนเธอร์แลนด์ และกาตาร์ ประเทศละ 1 ราย เข้ารับการกักกันในสถานกักกันที่รัฐกำหนด (ASQ) 8 ราย และสถานกักกันในสถานพยาบาลทางเลือก (AHQ) 1 ราย ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการทุกราย ในจำนวนนี้เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด 19 มาก่อน จำนวน 3 ราย
สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5.28 แสนราย ผู้ติดเชื้อสะสมรวม 73.1 ล้านราย มีอาการรุนแรง 106,515 ราย รักษาหายแล้ว 51.3 ล้านราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8,961 ราย เสียชีวิตสะสม 1.62 ล้านราย 10 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และอาร์เจนตินา ส่วนในทวีปเอเชีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในหลักพันราย
นายแพทย์จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยว่าใครจะมีความเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำนั้น แนวทางปฏิบัติการเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรค ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด 19 หากเป็นผู้สัมผัสโดยตรงทั้งเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำจะอยู่ในวงที่ 1 ซึ่งจะได้รับกักกันโรคและตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการตามที่กำหนด หากในวงที่ 1 ยังไม่พบการติดเชื้อ ผู้สัมผัสของวงที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นวงที่ 2 จึงมีความเสี่ยงน้อย การปฏิบัติคือให้สังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน และให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนวงที่ 3 ที่สัมผัสกับวงที่ 2 ก็จะยิ่งมีโอกาสพบการติดเชื้อต่ำมาก จึงไม่จำเป็นต้องกักตัวหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการจนกว่าผู้สัมผัสวงที่ 1 จะตรวจพบการติดเชื้อ ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับกรณีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด 19 นั้น เริ่มจากผู้ป่วยรายที่ 4 ที่ติดเชื้อและมีอาการเป็นคนแรก มีผู้สัมผัสวงที่ 1 คือ ผู้ป่วยรายที่ 1 2 3 และ 5 ส่วนผู้ป่วยรายที่ 6 สัมผัสกับผู้ป่วยรายที่ 1 ถือว่าอยู่ในวงที่ 2 และผู้ป่วยรายที่ 7 ที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 6 ถือว่าอยู่ในวงที่ 3 แต่จากระบบการเฝ้าระวัง กักกัน และตรวจหาเชื้อ ทำให้มีโอกาสแพร่สู่วงถัดไปต่ำ