นิด้าโพลเผย! ประชาชนส่วนใหญ่มองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปี 64 จะแย่ลง ชี้นายกฯจะอยู่ยาวตลอดทั้งปี

85

นิด้าโพลเผย! ประชาชนส่วนใหญ่มองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะแย่ลง ชี้นายกฯจะอยู่ยาวตลอดทั้งปี

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และโควิด-19 ในปี 2564” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 ธันวาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,326 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และโควิด-19 ในปี 2564 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย  (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยทั่วไปในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.63 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 35.30 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายมากขึ้น ร้อยละ 15.46 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายน้อยลง ร้อยละ 4.22 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่วุ่นวายเลย และ ร้อยละ 3.39 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.15 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จะอยู่ยาวตลอดทั้งปี รองลงมา ร้อยละ 13.12 ระบุว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 8.45 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 7.62 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จะลาออก ร้อยละ 3.02 ระบุว่า จะเกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 2.26 ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จะโดนคดีความทางการเมืองจนต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 1.73 ระบุว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะโดนรัฐประหาร และร้อยละ 15.01 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อม็อบคณะราษฎรในปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.21 ระบุว่า ม็อบคณะราษฎรจะไปเรื่อย ๆ เหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 22.78 ระบุว่า ม็อบคณะราษฎรจะอ่อนแรงลง ร้อยละ 13.80 ระบุว่า ม็อบคณะราษฎรจะยุติลง ร้อยละ 11.24 ระบุว่า ม็อบคณะราษฎรจะสามารถยกระดับได้ และร้อยละ 8.97 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.19 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 32.13 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเหมือนเดิม ร้อยละ 14.63 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น และร้อยละ 1.05 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 ในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2563 พบว่า ร้อยละ 48.11 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะรุนแรงขึ้น ร้อยละ 28.81 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   จะลดน้อยลง ร้อยละ 22.10 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเหมือนเดิม และร้อยละ 0.98 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.75 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.79 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.25 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.57 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.64 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.36 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 8.82 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.16 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.89 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.60 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 23.53 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.78 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.02 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.75 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.45 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.15 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.68 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.79 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.38 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 29.49 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.20 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.50 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.53 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.53 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.75 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 10.63 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.63ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.95 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.14 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.76 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.71 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.98 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 18.93 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.26 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.26 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.73 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.75 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท  ร้อยละ 7.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.75 ไม่ระบุรายได้