สธ.เผยโควิด-19 เริ่มคงตัว หลังควบคุมจุดแพร่เชื้อได้ ส่วน “หมอชนะ” เวอร์ชันใหม่ ไม่เปลืองแบต-ไม่คิดค่าดาต้า
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยและการใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” โดย นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า ข้อมูลการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 287 ราย ทำให้ยอดสะสมของการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 รวม 6,597 ราย ครึ่งหนึ่งมาจากระบบบริการและเฝ้าระวัง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการค้นหาเชิงรุก รักษาหายกลับบ้านสะสม 2,792 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาล 2,588 ราย จำนวนนี้อาการหนัก 28 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 11 ราย และยังอยู่โรงพยาบาลสนาม 870 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1%
โดยจังหวัดสีแดงที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 50 ราย พบใน 10 จังหวัดได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง กทม. สมุทรปราการ จันทบุรี นนทบุรี นครปฐม อ่างทอง และปทุมธานี จังหวัดล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อใหม่คือ จ.ร้อยเอ็ด เป็นหญิงไทยที่ทำงาน จ.ชลบุรี เดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่ และเริ่มมีอาการวันที่ 9 ม.ค. ได้รับการสอบสวนควบคุมโรคตามแผนงานที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์นี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดย จ.สมุทรสาคร ผู้ติดเชื้อรายใหม่คงตัว ค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่วนจ.นนทบุรี ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ จ.ระยองและจันทบุรี แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มคงตัวและลดลง แต่ จ.ชลบุรียังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ เกี่ยวเนื่องกรณีบ่อนพนัน และการติดเชื้อต่อเนื่องใน อ.ศรีราชา โดยจะค้นหาเชิงรุกกว้างขวางยิ่งขึ้น
“ภาพรวมการระบาดระลอกใหม่เริ่มคงตัว จากการค้นหาและควบคุมจุดแพร่ระบาดที่สำคัญ การติดตามผู้สัมผัสและผู้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการระบาดเป็นวงกว้างในระลอกใหม่ คือ การอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัดอยู่ใกล้ชิดกัน และไม่สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า และการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ทั้งนี้ การควบคุมโรคจะสำเร็จได้ ต้องควบคุมและจำกัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง การปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยง และค้นหาประชากรที่มีความเสี่ยงให้ได้รับการคัดกรอง รวมทั้งขอประชาชนร่วมมือยกระดับมาตรการองค์กรและมาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันควบคุมโรค”นพ.ทวีทรัพย์กล่าว
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เป็นการบันทึกข้อมูลการเดินทาง โดยใช้เทคโนโลยีจีพีเอสระบุตำแหน่ง และสัญญาณบลูทูธระบุคนที่อยู่ใกล้กัน ทำให้ทราบไทม์ไลน์และผู้สัมผัสได้อย่างรวดเร็ว เป็นประโยชน์ในการสอบสวนโรค เมื่อพบผู้ติดเชื้อที่ใช้หมอชนะจึงไม่ต้องสอบถามว่าช่วง 14 วันที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อไปที่ไหนและสัมผัสใครบ้าง โดยระบบจะส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ที่อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อ ให้เฝ้าระวังตนเองหรือติดต่อกลับเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ โดยไม่ต้องประกาศไทม์ไลน์มีความเป็นส่วนตัว ไม่มีการสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล
“ขณะนี้แอปพลิเคชัน หมอชนะ ได้อัปเดตเวอร์ชันใหม่ ไม่ต้องประเมินความเสี่ยงส่วนตัว และไม่เปลืองแบตเตอรี ส่วนการรับส่งข้อมูลตำแหน่งตลอดเวลานั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ กสทช. เจรจาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายไม่คิดค่าบริการดาต้าทำให้ไม่เปลืองเนต”ดร.สุพจน์ กล่าว
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยในช่วงเช้าวันนี้ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานในการลงนามความร่วมมือ โครงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มเพื่อติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด 19 ระหว่างกรมควบคุมโรค และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)