สสจ.เชียงใหม่ ยืนยันพร้อมให้คำแนะนำและดูแลผู้ขออนุญาตปลูกกัญชง

662

สสจ.เชียงใหม่ ยืนยันพร้อมให้คำแนะนำและดูแลผู้ขออนุญาตปลูกกัญชง

เภสัชกรหญิง นฤมล ขันตีกุล หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพิสณฑ์ ศรีบัณฑิต เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ในประเด็นการขออนุญาตปลูกกัญชง ณ ห้องประชุมสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ อาคารสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่

ตามที่กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 โดยกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว มุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้กัญชงเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่งเสริมการพัฒนากัญชงให้มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน สามารถส่งออกได้ และป้องกันมิให้มีการนำกัญชงไปใช้ในทางที่ผิด

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ผู้ที่มีความประสงค์จะปลูกกัญชง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุญาต และคู่มือผู้ประกอบการในการขออนุญาต โดยมี10 ข้อน่ารู้ ในการขออนุญาตปลูกกัญชง ดังนี้

1. พื้นที่ปลูกอยู่จังหวัดไหน ให้ยื่นขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ทั้งนี้สามารถยื่นขอได้ตลอดปี โดยขั้นตอนการอนุญาตประมาณ 120 วัน นับแต่วันที่หลักฐานครบถ้วนและยื่นชำระเงินค่าคำขออนุญาต

จึงควรวางแผนการยื่นคำขออนุญาตให้สอดคล้องเช่น ยื่นคำขออนุญาตเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อปลูกเดือนกรกฎาคม เป็นต้น

2. การขออนุญาตปลูกกัญชง เช่น เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ไม่จำกัดพื้นที่ จะขออนุญาตพื้นที่เท่าไรก็ได้

3. เอกสารสิทธิ์ที่ดินในการขออนุญาตต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่บุกรุกป่า เช่น โฉนด หรือ นส. 3 ก หากผู้ขอไม่ได้เป็นเจ้าของจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้พื้นที่เพื่อผลิตยาเสพติดให้โทษตามแบบฟอร์มที่กำหนด ทั้งนี้ แบบภ.บ.ท.5 และภ.บ.ท. 6 ไม่ถือเป็นเอกสารถือครองที่ดิน ไม่สามารถใช้ขออนุญาตได้

4. สถานที่ปลูก ต้องมีแนวเขตพื้นที่ปลูกที่เห็นได้ชัด แยกจากการปลูกพืชชนิดอื่นเป็นสัดส่วนชัดเจน

5. มีมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณพื้นที่ปลูกพื้นที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์หรือกัญชงหลังการเก็บเกี่ยวและแยกเก็บกัญชงเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับวัตถุอื่น

6. ถ้าพื้นที่ปลูกตั้งอยู่ในเขตชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวและสถานศึกษาต้องมีระบบป้องกันการเข้าถึง

จากบุคคลภายนอก เช่น รั้วลวดหนาม ปิดกั้นทั้ง 4 ด้านของพื้นที่ปลูก จำกัดประตูทางเข้าออกพื้นที่จำเป็น

7. กำหนดบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิ์ เข้า-ออก พื้นที่ปลูกกำหนดและผู้รับผิดชอบเฉพาะเป็นผู้ควบคุมในกิจกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร

8. ผู้ขออนุญาตหรือผู้ดำเนินการ ต้องมีหนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยื่นขอที่สถานีตำรวจภูธรที่มีภูมิลำเนาอยู่

9. มีค่าใช้จ่ายคือ คำขอรับอนุญาตฯ ใบละ 500 บาท และค่าหนังสือสำคัญอนุญาต ฉบับละ 4,000 บาท

10. การปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการเกษตร เช่น การวิเคราะห์คุณภาพของดินและน้ำ การตรวจสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลงโลหะหนัก และจัดให้มีระบบติดตามจากต้นทางสู่ปลายทาง และตรวจสอบย้อนกลับเพื่อควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการให้ประชาชนที่สนใจขออนุญาตยื่นปลูกกัญชง ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้วันแรกในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้สนใจมาขอทราบรายละเอียดจำนวน 95 ราย และยื่นคำขออนุญาตฯเบื้องต้น (ส่งเอกสารเพิ่มเติม)1 ราย และภาพรวมประเทศ มีผู้สนใจขอทราบรายละเอียดและรับคำแนะนำทั้งหมด 705 ราย ยื่นคำขออนุญาตฯเบื้องต้น 2 ราย

สำหรับ ผู้มีความประสงค์จะขออนุญาต สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขออนุญาตได้ที่ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://www.fda.moph.go.th/…/Narc…/SitePages/Hemp_V.aspx

และสามารถขอคำแนะนำ เกี่ยวกับการขออนุญาตได้ที่งานกัญชงกัญชา กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053 894 742 หรือ ID line: hempcmi ตามวันและเวลาราชการ