แพทย์เตือน ‘ทาสแมว’ ระวังโรคเชื้อราแมวติดต่อสู่คน ทำให้คันผิวหนัง อาจลุกลามกระจายไปทั้งตัว ทิ้งรอยดำไว้นาน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากที่มีข่าวสาวโพสต์ภาพหลังเลี้ยงแมวแล้วเกิดอาการผื่นแดงทั่วใบหน้าและลำตัวนั้น ขอเรียนว่า แมวอาจนำโรคบางอย่างมาสู่คนได้ โรคที่พบบ่อยคือ เชื้อราแมว ซึ่งจะทำให้มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจลามกระจายทั้งตัว และเมื่อผื่นหายอาจทิ้งรอยดำ ใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่สภาพผิวปกติ นอกจากแมวแล้วสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข กระต่าย หนูแฮมสเตอร์และสัตว์ขนยาว ก็สามารถติดเชื้อนี้เช่นกัน
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อราแมวมีหลายชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยคือ Microsporum canis ทำให้มีผื่นแห้งๆ สีเทาบริเวณผิวของแมว แต่ในคนจะมีลักษณะเป็นผื่นกลม มีขุย สีแดง ขอบเขตชัด และมีอาการคัน เกิดขึ้นได้ในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ทั้งบริเวณใบหน้า มือ เท้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่สัมผัสกับแมว เชื้อราแมวสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสกับผิวหรือขนของแมว หรือแม้แต่บริเวณบ้านที่แมวอยู่มักจะมีเชื้อราอยู่ โดยสปอร์ของเชื้อราจะหลุดร่วงมาจากผิวหรือขนของแมวและสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี การทำลายสปอร์ควรใช้สารฟอกขาว ละลายในน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 เพื่อทำลายสปอร์ในอุปกรณ์ของสัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อราแมว ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้เลี้ยงสัตว์หลายชนิด ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับแมว
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การรักษา ควรรีบไปพบแพทย์ โดยมีทั้งยากินและยาทาฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาเชื้อราด้วย ช่วงระหว่างการรักษาควรแยกแมวไว้อีกห้องและทำความสะอาดบริเวณบ้านเพื่อกำจัดเชื้อ การป้องกันการติดเชื้อราแมว คือ ไม่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงมากเกินไป ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงทุกครั้ง ทำความสะอาดบ้านและสิ่งของภายในบ้าน โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่มีผ้าที่สัตว์เลี้ยงสัมผัส นำสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา วัคซีนป้องกันเชื้อรามีชื่อ การค้าว่า Biocan M ป้องกันเฉพาะเชื้อราในสุนัขและแมว ที่เกิดจากเชื้อ Microsporum canis เท่านั้น สามารถฉีดได้เมื่อสุนัขและแมวอายุ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดวัคซีนหลักครบแล้ว ควรฉีดกระตุ้นซ้ำ 3 เข็ม หลังจากนั้นกระตุ้นทุก 1 ปี หมั่นดูแลทำความสะอาดขนของสัตว์เลี้ยง อาบน้ำเป่าขนให้แห้ง และหากสัตว์เลี้ยงมีผื่น ขุย หรือขนร่วงควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน