กระทรวงสาธารณสุขดัน “กัญชา” เป็น Product Champion สู่อุตสาหกรรมสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ ตั้งเป้าผลิตยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คาดสร้างรายได้ 150 ล้านบาท

38

กระทรวงสาธารณสุขดัน “กัญชา” เป็น Product Champion สู่อุตสาหกรรมสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ ตั้งเป้าผลิตยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คาดสร้างรายได้ 150 ล้านบาท

IMG 3823กระทรวงสาธารณสุขดัน “กัญชา” เป็น Product Champion สู่อุตสาหกรรมสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ ตั้งเป้าผลิตยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเดิมจับคู่ 29 บริษัทผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูก คาดสร้างรายได้ 150 ล้านบาท กำหนดเป็นระบบบริการสุขภาพสาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชา

DSC09866

วันนี้ (11 มีนาคม 2564) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมแถลงข่าวการพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการกัญชาในอุตสาหกรรมสุขภาพและการจับคู่เจรจาธุรกิจส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด
นายอนุทินกล่าวว่า ในสายตาประชาคมโลก “กัญชา” เป็นสมุนไพรที่มีค่าและให้การยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายมีมูลค่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 17โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด รัฐบาลเล็งเห็นว่า กัญชาเป็นทางออกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน จึงได้ส่งเสริมให้พัฒนากัญชาแบบครบวงจร (Product Champion) ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางเกษตรกรผู้ปลูก, กลางทางคือผู้ผลิต และปลายทางคือผู้ขายและประชาชน มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ยาแผนไทยผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
IMG 3739
นายอนุทินกล่าวต่อว่า วันนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญจากการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมสุขภาพร่วมกับภาคเอกชน ผู้ผลิตที่มีศักยภาพ และวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้าร่วม 29 บริษัท มีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน ส่วนผู้แทนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย 5 กลุ่ม จาก 6 จังหวัด เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 50 กลุ่ม รวมพื้นที่ปลูกกัญชามากกว่า 60 ไร่ การจับคู่เจรจาวัตถุดิบกัญชาครั้งนี้คาดมีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท ความคาดหวังว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจจึงมีความเป็นไปได้สูง
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 นำไปใช้ในผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย เข้าถึงการรักษาด้วยกัญชามากขึ้น นอกจากนี้ ได้แก้ไขกฎกระทรวงปลดล็อกชิ้นส่วนต่างๆ ของกัญชาไม่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในการรักษาโรคปัจจุบันเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดฯ 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 65,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ และยังกำหนดให้สมุนไพรกัญชาและกัญชง เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย
ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565 มีการกำหนดวางแผนการพัฒนาสมุนไพรให้ครบวงจรเป็น Product Champion พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้างเศรษฐกิจได้ และพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจ มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ยาแผนไทย เพื่อรักษาและดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมาย 2.ผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนทั่วไป มีเป้าหมายต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้กัญชาผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวจากประสบการณ์ตรง