ชัดแล้ว‼ สงกรานต์เชียงใหม่ 2564 งดขบวนแห่สรงน้ำพระ งดการเล่นสาดน้ำรอบคูเมืองโดยเด็ดขาด เตรียมจัดงานแบบวิถีใหม่ ภายใต้แนวคิด “สืบฮีตโตยฮอย เมืองเจียงใหม่ 725 ปี๋”
เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ (ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่) ประจำปี 2564 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “สืบฮีตโตยฮอย เมืองเจียงใหม่ 725 ปี๋” เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
โดย เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จะจัดให้มีการแถลงข่าวงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ขึ้นในวันที่ 4 เมษายน 2564 เวลา 18.00 น. ณ ข่วงประตูท่าแพ และจะจัดให้มีพิธีเปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2564 ขึ้น ในวันที่ 13 เมษายน เวลา 08.30 น. ณ ข่วงประตูท่าแพ
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค และเพื่อความไม่ประมาท เทศบาลนครเชียงใหม่จึงจำเป็นต้องงด หรือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะยังคงงดการจัดขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปสำคัญที่ทุกปีจะมีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำตั้งแต่ตลาดสันป่าข่อย จนถึง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร โดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นการสมโภชพระพุทธสิหิงค์ โดยอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานด้านหน้าวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2564 และงดการเล่นสาดน้ำรอบคูเมืองโดยเด็ดขาด
งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ในปีนี้ก็ยังคงมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น พิธีตานตุงไชย 725 ปี เมืองเชียงใหม่ และ ตกแต่งตุงไชยรอบคูเมือง ระหว่างวันที่ 1 – 19 เมษายน 2564 กิจกรรมยอสวย ไหว้สา พระญามังราย ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ระหว่างวันที่ 11 – 12 เมษายน 2564 การอัญเชิญ “น้ำติ๊บปี๋ใหม่เมือง” จำนวน 9,725 ขวด ฉลองเมืองเชียงใหม่ครบ 725 ปี แจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวและประชาชน ซึ่งเป็นน้ำทิพย์จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ วัดบุพพาราม อ่างกาหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และ ขุนน้ำปิง อุทยานแห่งชาติผาแดง การแข่งกลองหลวง ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ในวันที่ 12 เมษายน 2564 ตลอดจนกิจกรรม สืบฮีต สานฮอย ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ซึ่งเป็นการสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การตัดตุง การก่อเจดีย์ทราย ข่วงกาดหมั้วอาหารและขนมพื้นเมือง ตลอดจนการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง ระหว่างวันที่ 13-15เมษายน 2564 ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา และในส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่เองก็จะจัดพิธีขอขมาและบวงสรวงเศียรท้าวกบิลพรหมองค์มหาสงกรานต์ขึ้น ในวันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 10.09 น. ณ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่
นอกจากกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีแล้ว กิจกรรมด้านความบันเทิงที่มีผู้สนใจติดตามเป็นประจำทุกปี เช่น การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง เราก็ยังคงจัดให้มีเหมือนเดิม ณ ข่วงประตูท่าแพ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน 2564
สิ่งที่จะต้องขอความร่วมมือจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนชนก็คือ ในการร่วมกิจกรรมต่างๆ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย การลงทะเบียนในระบบไทยชนะ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามรณรงค์มาตลอดทุกปีก็คือ งานป๋าเวณีเมืองเชียงใหม่จะต้องปลอดเหล้า ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท และขอเชิญชวนพี่น้องชาวเชียงใหม่ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง และพูดจาภาษาคำเมืองตลอดเดือนเมษายน สำหรับหน่วยงานร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ทางเทศบาลฯ ก็ขอเชิญชวนให้ตกแต่งประดับประดากิจการร้านค้าของท่านด้วยตุงไจยมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสร้างบรรยากาศของความเป็นล้านนาให้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมืองของเรา และเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่างดการเล่นสาดน้ำรอบคูเมืองโดยเด็ดขาด