กองปราบเตือน! แอบถ่ายภาพบุคคลใน รพ.สนาม มีความผิดทั้ง อาญา-แพ่ง-พ.ร.บ.คอมฯ
วันที่ 19 เมษายน 2564 กองปราบปราม ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับการแอบถ่ายภาพบุคคลใน รพ.สนาม โดยระบุว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีผู้ป่วยทื่ต้องเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก การถ่ายภาพผู้ป่วยหรือบุคคลอื่น ขณะเข้ารับการรักษาหรือปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนาม แล้วส่งต่อหรือเผยแพร่ในโซเชี่ยลมีเดีย โดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและอาจเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ COVID-19 ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง และ “ผิดกฎหมาย”
การแอบถ่ายและเผยแพร่ภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามอาจเข้าข่ายมีความผิด ดังนี้
– ประมวลกฎหมายอาญา หากการถ่ายภาพนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ อาจเข้าข่ายมีความผิดตาม มาตรา 397 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ หากมีการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยเผยแพร่ภาพหรือตัวอักษรหรือลักษณะอื่นๆ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตาม มาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
– ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หากผู้ที่แอบถ่ายภาพนั้น กระทำการโดยจงใจหรือแม้แต่ประมาทเลินเล่อก็ตาม เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ผู้ที่ถูกแอบถ่ายสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย
– พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 หากมีการนำภาพของผู้อื่นซึ่งอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้นโดยวิธีการใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ผู้เสียหาย หรือ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อพนักงานสอบสวนได้