รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผย แนะวิธีออกกำลังกายฟื้นฟูปอด ป้องกันโควิด 19

622

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผย แนะวิธีออกกำลังกายฟื้นฟูปอด ป้องกันโควิด 19

การดูแลฟื้นฟูปอดให้แข็งแรง ถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งทุกคนสามารถทำด้วยตนเองได้ที่บ้าน หรือที่พักอาศัย ด้วยการฝึกการขยายตัวของปอด และยืดเหยียดกล้ามเนื้อทรวงอก

ศ.พญ.อารีรัตน์ สุพุทธิธาดา ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำว่า การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ซึ่งทุกคนสามารถทำด้วยตนเองได้ที่บ้าน หรือที่พักอาศัย ทั้งนี้ โดยการฝึกการขยายตัวของปอด และยืดเหยียดกล้ามเนื้อทรวงอก กระบังลม และกล้ามเนื้อไหล่ ด้วยการยืนตรง เอามือไขว้ไว้ด้านหน้า หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ แล้วยกมือขึ้น กางไหล่ให้เหยียดสุด พร้อมกับหายใจออก โดยทำวันละ 20 ครั้ง นอกจากนี้ต้องฝึกความแข็งแรงของกระบังลม โดยวางมือข้างหนึ่งบนหน้าอก และอีกข้างวางบนท้อง หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ผ่านจมูกให้ทรวงอกและท้องป่อง ขยายเต็มที่ แล้วหายใจออกทางปากช้าๆ ลึกๆ ใช้เวลารวม 1 นาที พักประมาณ 30 วินาที ทำสลับกันไป

ฝึกการขยายตัวของปอดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทรวงอก ด้วยการนั่งตัวตรง ถือเครื่องบริหารปอดระดับอก หายใจเข้า-ออกปกติ 3 รอบ แล้วอม mouthpiece ให้สนิท เพื่อไม่ให้มีลมรั่ว จากนั้น ให้หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ค่อยๆ ดูด เพื่อให้ลูกบอลทั้ง 3 ลูก ลอยขึ้นค้างไว้ประมาณ 5 วินาที แล้วหายใจออกยาวๆ พัก 10-30 วินาที ทำซ้ำจนครบ 10 รอบ จากนั้นไอแรงๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีเสมหะตกค้างในปอดและปอดขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำแนะนำตลอดเวลาที่ออกกำลังกาย คือผู้ที่ออกกำลังกายด้วยวิธีข้างต้นควรวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด หากมีค่าต่ำกว่าร้อยละ 88 ให้หยุดออกกำลังกาย และขณะออกกำลังกาย หากพบว่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดสูงกว่าร้อยละ 92 แสดงว่าปอดเริ่มฟื้นตัวได้ดีแล้ว เมื่ออ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว ทดลองนำไปฝึกกันดู และขอให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสุขภาพปอดที่ดี

 

นอกจากนี้ยังสามารถติดตามคลิปการฟื้นฟูปอดจากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทั้ง 3 ตอนดังนี้

ตอนที่ 1 ให้ลองฝึกหายใจเพื่อช่วยขยายปอด สู้โควิด19

https://youtu.be/9qWEiO38fDA

ตอนที่ 2 ให้ลองออกท่าบริหารเพื่อฟื้นฟูร่างกาย สู้โควิด19

https://youtu.be/t3BH1HH2_Yo

ตอนที่ 3 ให้ลองกระตุ้นภูมิสู้โควิด19 ด้วยการออกกำลังกายแบบ Aerobic Exercise https://youtu.be/D8B8SGm5-Xo

 

ที่มา : ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ