สสส. เผย 9 ประเด็นสุขภาพสำคัญ เพื่อรับมือและรู้ทันโควิด-19

58

สสส. เผย 9 ประเด็นสุขภาพสำคัญ เพื่อรับมือและรู้ทันโควิด-19

โลกต้อนรับเราเข้าสู่ขวบปีใหม่ด้วยข่าวสถานการณ์โรค Covid-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง หลายคนเริ่มปรับตัวและคุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบ New normal ขณะที่หลายคนก็ยังคงกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า นี่เราติดเชื้อแล้วใช่ไหม ข่าวสารที่ได้ยินมาเป็นจริงหรือไม่ หรือจะดูแลคนในครอบครัวให้รอดจากเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างไร

1) Recheck นิสัยการใส่ “หน้ากากอนามัย” อย่างไรให้ถูกต้อง

แม้ว่าเราจะใส่หน้ากากอนามัยกันจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติไปแล้ว แต่บางคนก็อาจจะยังสวมใส่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้เริ่มจากการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบหน้ากากอนามัยขึ้นมาใส่ โดยหันด้านที่มีสีเข้มหรือผิวมันไว้ด้านนอก ดึงหน้ากากให้คลุมทั้งจมูกและปาก และบีบขอบลวดให้แนบกับจมูกมากที่สุด เมื่อใช้งานเสร็จควรถอดทิ้งทันที โดยพับทบกันให้ด้านที่สัมผัสจมูกและปากอยู่ข้างใน แล้วมัดด้วยสายรัดให้แน่น จากนั้นจึงทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และสำหรับใครที่ใช้หน้ากากผ้า ก็ควรซักให้สะอาดก่อนนำมาใช้ซ้ำในทุก ๆ วัน

ด้านองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ออกมาย้ำว่า ไม่ควรใช้หน้ากากชนิดที่มีวาล์ว เนื่องจากมีโอกาสที่เชื้อโรคจะแพร่จากตัวเราไปสู่คนอื่นได้ ที่สำคัญ ไม่ควรใช้มือจับหน้ากากอนามัยระหว่างสวมใส่ และไม่ควรดึงหน้ากากอนามัยลงมาพักไว้ใต้คาง เพราะมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคได้เช่นกัน

2) เชื้อโรค Covid-19 กลัว “อากาศร้อน” จริงหรือไม่

หลายคนอาจคิดว่า โชคดีจังที่อยู่เมืองไทย อากาศร้อนขนาดนี้ เชื้อโรค Covid-19 คงจะตายก่อนแน่ ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น เชื้อโรค Covid-19 ไม่ได้แคร์ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาวแต่อย่างใด

งานวิจัยจาก The University of Texas สหรัฐอเมริกา บอกกับเราว่า สภาพอากาศซึ่งก็คืออุณหภูมิกับความชื้น ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการระบาดของเชื้อโรค Covid-19 สาเหตุหลักก็คือพฤติกรรมของคนเรามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน การใส่หน้ากากอนามัย หรือการเว้นระยะห่าง ส่วนสภาพอากาศอาจจะมีผลเล็กน้อย อย่างเช่นอากาศที่หนาวเย็นจัดอาจทำให้คนรวมตัวกันอยู่แต่ในบ้าน จนแพร่เชื้อถึงกันได้ง่ายขึ้น เรียกว่าสภาพอากาศส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา มากกว่าจะส่งผลโดยตรงต่อการระบาดของโรค

ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพอากาศแบบไหน ก็ควรเน้นที่การดูแลพฤติกรรมให้ถูกสุขอนามัย เพื่อป้องกันตัวเราและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากเชื้อ Covid-19

3) “สบู่ VS เจลแอลกอฮอล์” ใครคือมือหนึ่งในการจัดการกับเชื้อ Covid-19

มือที่สะอาดหมดจดจะช่วยปกป้องตัวเราเองจากเชื้อ Covid-19 ได้ดีที่สุด แล้วระหว่างสบู่กับเจลแอลกอฮอล์ ตัวช่วยตัวไหนที่สามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ดีกว่ากัน มาเริ่มจากตัวช่วยสามัญประจำบ้านอย่างสบู่ เวลาที่เราถูสบู่นั้น โมเลกุลส่วนหางของสบู่จะจับกับโมเลกุลของไขมัน ซึ่งเป็นเหมือนกับผนังหรือเกราะที่จับตัวห่อหุ้มไวรัสไว้แบบหลวม ๆ สบู่จะทำให้ไขมันเหล่านี้แยกออกจากกัน เมื่อเกราะคุ้มกันแตก เชื้อไวรัสจึงถูกทำลาย และถูกชะล้างออกไปจากมือเราทันทีเมื่อล้างน้ำ

ส่วนเจลแอลกอฮอล์ ที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 70% นั้น มีหลักการทำงานโดยจัดการชั้นไขมันของไวรัส ทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์ ไม่สามารถทำให้ร่างกายเราติดเชื้อได้อีกต่อไป เราจึงมักได้ยินคนใช้คำว่า แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ อยู่บ่อย ๆ นั่นเอง

หลักการนี้ใช้ได้ผลกับเชื้อไวรัส Covid-19 ด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ถูกล้อมรอบไว้ด้วยไขมันและโปรตีนเช่นกัน ดังนั้น เราจึงสามารถเลือกใช้สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

4) เราจะมีโอกาสติดเชื้อ Covid-19 ผ่าน “อาหาร” ที่รับประทานเข้าไปได้หรือไม่

ทุกวันนี้ ยังไม่พบหลักฐานว่ามีคนติดเชื้อ Covid-19 จากการรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้ไม่ได้ทนความร้อนได้เก่งกว่าเชื้อโรคตัวอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ส่วนบรรจุภัณฑ์อาหารที่หลายคนกังวลว่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคติดมาด้วยนั้น แค่เราล้างมือให้สะอาดหลังจับบรรจุภัณฑ์ก็เพียงพอ และสำหรับใครที่ชอบสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ และไม่แน่ใจว่า มีไวรัสส่งเป็นของแถมมากับอาหารด้วยหรือเปล่า ก็สามารถใช้วิธีการล้างมือให้สะอาด เป็นตัวช่วยสุดท้ายได้เสมอ ที่สำคัญ อย่าลืมรับประทานอาหารให้หลากหลาย โดยเน้นผักผลไม้ เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของเราเอง

5) เราควรต้องกังวลแค่ไหน กับข่าว “การกลายพันธุ์” ของเชื้อไวรัส Covid-19

ความจริงก็คือ ไวรัส Covid-19 นั้นอาจค่อย ๆ กลายพันธุ์มาเรื่อย ๆ ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เพราะไวรัสก็มักจะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเป็นปกติ ซึ่งก็ยังไม่พบหลักฐานว่า การกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ใหม่นี้ จะทำให้อาการป่วยของคนรุนแรงหรือเป็นอันตรายมากขึ้น เพียงแต่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ดังนั้น วิธีที่เราควรปฏิบัติในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจึงยังคงเหมือนเดิม

ส่วนคำถามที่ว่า วัคซีนที่ผลิตไว้แล้ว จะใช้ได้ผลกับไวรัสที่กลายพันธุ์ด้วยหรือไม่ เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตขึ้นต้องผ่านการทดลองกับไวรัสมาแล้วหลากหลายสายพันธุ์จนแน่ใจในประสิทธิภาพ เราจึงค่อนข้างมั่นใจในผลลัพธ์ของวัคซีนที่ผ่านการทดสอบมาเป็นอย่างดีได้ โดยวัคซีนจะกระตุ้นให้แอนติบอดีในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราทำงานได้ดีขึ้น  ทั้งแอนติบอดีส่วนที่เป็นตัวค้นหาและจัดการกับไวรัส และส่วนที่เป็นเหมือนเรดาร์คอยตรวจสอบสภาพความแข็งแรง และทำหน้าที่เหมือนระบบเตือนภัยเบื้องต้นให้แก่ร่างกาย

6) “คุณแม่ตั้งครรภ์” มีความเสี่ยงแค่ไหนในช่วงการระบาดของ Covid-19

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า เชื้อ Covid-19 สามารถติดต่อจากคุณแม่ที่ติดเชื้อไปสู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์หรือระหว่างคลอดใด้หรือไม่ และทุกวันนี้ก็ยังตรวจไม่พบไวรัสชนิดนี้ในตัวอย่างของเหลวในครรภ์ของคุณแม่ หรือในน้ำนมแม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีเดียวกับคนทั่วไป ส่วนคุณแม่ที่ติดเชื้อ Covid-19 ก็สามารถทำคลอดภายใต้การวินิจฉัยและการดูแลของทีมแพทย์ได้

เช่นเดียวกับการให้นมลูก ยังไม่มีการค้นพบว่าเชื้อ Covid-19 สามารถแพร่สู่ลูกผ่านน้ำนมแม่ ดังนั้น แม้ว่าคุณแม่จะติดเชื้อ ก็ยังสามารถสัมผัส อุ้ม และให้นมลูกได้ โดยควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์และล้างมือให้สะอาด เพราะถึงอย่างไร นมแม่ก็มีความสำคัญต่อความอยู่รอดและเจริญเติบโตของทารกอย่างที่สุด

7) ชวน “ขยับร่างกาย” วันละนิด ฟิตร่างกายสู้ Covid-19

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำให้เราทำกิจกรรมทางกาย หรือ physical activity อย่างสม่ำเสมอ แม้ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเป็นประจำระหว่างเกิดการระบาดของ Covid-19 โดยมีคำแนะนำสำหรับคนแต่ละวัย ดังนี้

– เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรทำกิจกรรมทางกายให้ได้วันละหลาย ๆ ครั้ง

– เด็กอายุ 1 – 2 ปี ควรทำกิจกรรมทางกาย โดยมีกิจกรรมระดับปานกลางถึงหนักร่วมด้วย อย่างน้อยวันละ 180 นาที

– เด็กอายุ 3 – 4 ปี ควรทำกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละ 180 นาที โดยให้มีกิจกรรมระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาที

– เด็กและวัยรุ่นอายุ 5 – 17 ปี  ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อยวันละ 60 นาที

-ผู้ใหญ่อายุ 18 – 64 ปี  ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 – 300 นาที หรือทำกิจกรรมทางกายระดับหนัก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 75 – 150 นาที

– ผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป  ควรทำกิจกรรมทางกายเช่นเดียวกับผู้ใหญ่อายุ 18 – 64 ปี   แต่เพิ่มการฝึกการทรงตัวและกล้ามเนื้อในระดับปานกลางหรือมากกว่า ให้ได้ 3 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป

กิจกรรมทางกายในที่นี้ อาจจะเป็นการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน ทำสวน เล่น หรือเต้นประกอบเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครที่ต้องนั่งอยู่กับที่คราวละนาน ๆ ระหว่างทำงาน เรียนออนไลน์ หรือใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์หรือสมาร์ทโฟน แนะนำให้หยุดพักทุก 20 – 30 นาที แล้วลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย เดินผ่อนคลายในบ้านหรือในสวน ให้ได้ประมาณ 3 – 5 นาที ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงลดความเครียด และเป็นโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วย

8) “อาการ” แบบไหน น่าสงสัยว่าอาจติดเชื้อ Covid-19

หากร่างกายของเราได้รับเชื้อ Covid-19 แล้ว ก็จะเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 5 – 14 วัน ซึ่งอาการก็จะคล้าย ๆ กับอาการของโรคหวัดทั่วไป เพียงแต่แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่า ในคนไข้บางคนอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายมากกว่า ขณะที่บางคนก็สามารถดูแลร่ายกายจนหายได้เองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์

มาลองหมั่นสังเกตตัวเองและคนรอบข้าง ว่ามีอาการต้องสงสัยเหล่านี้หรือไม่

อาการทั่วไป เช่น มีไข้ ไอแห้ง เหนื่อยง่าย

อาการที่อาจพบได้รองลงมา เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงการไม่รับรู้รสหรือไม่ได้กลิ่นอาหาร อาจมีอาการท้องเสีย หรือมีผื่นคันตามผิวหนังด้วย

อาการรุนแรง เช่น หายใจ พูด หรือเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก รวมถึงอาการเจ็บหน้าอก หากพบสัญญาณฉุกเฉินเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

9) หากสงสัยว่า “ติดเชื้อ Covid-19” ควรทำอย่างไรดี

สำหรับใครที่สงสัยว่าตนเองหรือคนรอบข้างอาจจะติดเชื้อ Covid-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลใกล้ชิดอย่างเช่น ผู้สูงอายุ เด็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือผู้มีประวัติป่วยด้วยโรคปอดและโรคเบาหวาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าหากมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็น ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยจะต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ด้วยการรักษาระยะห่างจากผู้อื่น 1 – 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด ทั้งนี้ หากมาสถานพยาบาลช้าเกิน 48 ชั่วโมง มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้

และนี่ก็คือ 9 ประเด็นสุขภาพเพื่อรับมือกับ Covid-19 ซึ่งอีกข้อหนึ่งที่สำคัญ ก็คือการพยายามติดตามข้อมูลเพื่ออัพเดตความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ Covid-19 โดยเฉพาะยิ่ง ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร และทุก ๆ บ้านมีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญเช่นนี้ อย่าลืมช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Covid-19 ที่ได้รับจากโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงหรือ fake news ด้วยการลองสังเกตองค์ประกอบต่าง ๆ ของข่าว เช่น

ข้อความพาดหัวที่อาจดูน่าตระหนกเกินไป

URL ของเว็บไซต์ ซึ่งอาจพยายามเลียนแบบแหล่งข่าวจริง

แหล่งที่มา หรือการอ้างอิงแหล่งข้อมูล มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

การจัดรูปแบบ การสะกดคำ วันที่ลำดับเหตุการณ์ หรือรูปภาพประกอบ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

ตรวจสอบแหล่งข่าวอื่น ๆ ด้วย ว่าให้ข้อมูลตรงกันหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร และก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดนี้ไปอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป และเข้าใจวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อ Covid-19 ได้อย่างถูกต้องนั่นเอง

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ