1 พ.ค. 64 นี้ ลงทะเบียนนัดฉีดวัคซีนโควิด 19 คิวแรกกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง รวม 16 ล้านคน ผ่านไลน์ “หมอพร้อม” หรือติดต่อรพ./ รพ.สต./ อสม. ใกล้บ้าน เริ่มฉีด มิ.ย. – ก.ค. 64 ส่วนประชาชนทั่วไป รับการฉีดตั้งแต่ ส.ค. 64 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม”
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันคนไทยทั้งประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างทั่วถึงทุกคน เพื่อควบคุมโรค สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยในระยะแรก มีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย ทั้งภาครัฐและเอกชน รวม 3.8 ล้านคน ปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงขณะนี้ฉีดครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด รวมกว่า 1.2 ล้านโดส มีผู้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า 1 ล้านคน และรับวัคซีนครบ 2 เข็มอีกกว่า 2 แสนคน
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า ระยะที่ 2 จะมีวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตร้าเซนเนก้า และเริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยเริ่มฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 4.3 ล้านคน ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน รวมทั้ง 2 กลุ่ม “16 ล้านคน 16 ล้านโดส” เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตสูง โดยเปิดให้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์รับวัคซีนโควิด 19 เพื่อจัดลำดับนัดหมาย ผ่านไลน์หมอพร้อมเวอร์ชัน 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หรือติดต่อนัดหมายที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)/อสม.ในพื้นที่ เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – 31 กรกฎาคมนี้ สำหรับระยะที่ 3 จะฉีดให้ประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน เพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ลงทะเบียนนัดหมายรับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และเริ่มฉีดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
“ขอให้มั่นใจรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ฉีดให้คนไทยทุกคน ภายในปี 2564 นี้ ซึ่งจะช่วยเสริมการป้องกันควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ และช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิต” ดร.สาธิตกล่าว
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลที่ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังได้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบหมอพร้อมแล้ว โดยวันนี้ (28 เมษายน 2564) ได้อัปเดตไลน์ “หมอพร้อม” เป็นเวอร์ชัน 2 เพิ่มฟังก์ชันการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ทั้ง 2 กลุ่มลงทะเบียน เลือกโรงพยาบาล นัดหมายวันเวลา รับการฉีดวัคซีน ซึ่งประชาชนทำได้โดยการเพิ่มเพื่อน (Add Friend) ไลน์หมอพร้อม ลงทะเบียนการใช้งาน กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง หากมีข้อมูลในระบบแล้วให้ใส่เบอร์โทรศัพท์และกดบันทึก หากไม่มีข้อมูลในระบบให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและกดบันทึก จะมีข้อความแจ้งยืนยันการลงทะเบียนสำเร็จ จากนั้นกดเมนูจองฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อลงทะเบียนการฉีดวัคซีน นัดวันและเวลาฉีดวัคซีนที่สะดวก หากต้องการลงทะเบียนแทนบุคคลในครอบครัว ให้กด “เพิ่มบุคคลอื่น” ที่เมนู “แก้ไขข้อมูลส่วนตัว” ซึ่งสามารถเพิ่มได้ไม่จำกัด แล้วค่อยเข้าเมนูจองฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่อไป หากไม่สะดวกมาในวันนัดหมาย มีฟังก์ชันเปลี่ยนการนัดหมายการฉีดวัคซีนใหม่ด้วย หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ “หมอพร้อม” สอบถามได้ที่ 1422 หรือ 02 792 2333
ทั้งนี้ ก่อนฉีดวัคซีน 1 วันจะมีข้อความแจ้งเตือนให้มารับวัคซีนตามนัด ฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับข้อความยืนยันการรับวัคซีน รวมถึงจะมีการส่งแบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนหลังฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน ส่วนวัคซีนเข็มที่ 2 ระบบจะดำเนินการแบบเดียวกัน และมีการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มด้วย อย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวกในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านไลน์หมอพร้อม สามารถโทรนัดหมายได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อ อสม.ภายในหมู่บ้าน
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมสำหรับฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยมีหน่วยบริการฉีดวัคซีนทั้งหมด 1,373 แห่ง ให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 3 แสนคน หรือประมาณเดือนละ 10 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหน่วยบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ตามเกณฑ์ปฏิบัติของกรมการแพทย์ ซึ่งการฉีดวัคซีนทั้งภายในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลได้มีการจัดเตรียมสถานที่ในการฉีดวัคซีนไว้ 5 จุด ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีต่อจุด เมื่อฉีดวัคซีนเสร็จต้องรอสังเกตอาการอีก 30 นาที โดยรวมใช้เวลาในการรับวัคซีนประมาณ 35-40 นาที ทำให้การฉีดวัคซีนมีความรวดเร็วและความปลอดภัย ดังนั้น จึงสามารถให้วัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค 16 ล้านคนเสร็จสิ้นได้ตามกำหนด
สำหรับการกระจายวัคซีนมีองค์การเภสัชกรรมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท DKSH ที่มีระบบเก็บรักษาอุณหภูมิที่ได้มาตรฐาน สามารถจัดส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัดได้ภายใน 24 ชั่วโมงต่อรอบการขนส่ง ดังนั้น โรงพยาบาลจึงไม่ต้องจัดหาอุปกรณ์เก็บรักษาวัคซีนที่มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบติดตามการกระจายวัคซีนที่สามารถตรวจสอบแหล่งเก็บวัคซีนและสถานการณ์ขนส่งวัคซีนได้แม่นยำ ช่วยควบคุมการกระจายวัคซีนได้อย่างเป็นระบบ ส่วนกรณีการออกหน่วยให้บริการวัคซีน โรงพยาบาลที่ออกหน่วยต้องมีความพร้อมและปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรมการแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรคมีแผนการกระจายวัคซีนเริ่มจาก 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน และเดือนละประมาณ 10 ล้านโดสในเดือนต่อ ๆ ไป โดยระยะแรกจะฉีดกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตคือกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยได้ออกคู่มือแนวทางการบริหารจัดการให้วัคซีน มีการเตรียมระบบ cold chain ครอบคลุมต้นทางถึงปลายทาง มีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีด ได้แก่ ไซริงและเข็ม ไว้พร้อม อุปกรณ์และกล่องขนส่งวัคซีน โดยมีการสั่งซื้อไซริงที่ลดการสูญเสียวัคซีน คือ low dead space syringe เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ถึง 11-12 โดส ช่วยทำให้บุคลากรสะดวกและปฏิบัติงานง่ายขึ้น ส่งผลดีเพิ่มจำนวนผู้รับวัคซีนครอบคลุมได้เร็วและมาก ซึ่งการรับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้อย่างน้อยร้อยละ 60-80 และจะลดโอกาสแพร่เชื้อได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้มีระบบการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและแพทย์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อวินิจฉัยและให้ความเห็นสาเหตุการป่วยว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ให้เกิดความชัดเจน และดูแลความปลอดภัยของผู้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแผนงานของประเทศไทย