เชียงใหม่แถลง 9 พ.ค. 64 พบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมสะสม 11 ราย
?วันที่ 9 พ.ค. 64 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ชี้แจงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 2 รายว่า
รายแรกเป็นชายไทย อายุ 80 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคไตวายเรื้อรัง โดยปัจจัยของการติดเชื้อเกิดจากการติดเชื้อภายในครอบครัว มีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ต่อมาวันที่ 27 เมษายน ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงดาว มีอาการหายใจหอบเหนื่อยรุนแรง แพทย์จึงได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ จากนั้นได้ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตรวจพบจากภาพถ่ายรังสี ว่ามีภาวะปอดอักเสบ แพทย์จึงได้เริ่มให้ยาต้านไวรัสและยาต้านแบคทีเรียทันที ต่อมามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงจึงได้เปลี่ยนยาปฏิชีวนะใหม่ เป็นยาที่ครอบคลุมเชื้อได้มากขึ้น ในวันที่ 6 พฤษภาคมผู้ป่วยมีอาการทรุดลง มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตและมีภาวะเลือดเป็นกรด จึงได้ให้สารน้ำทดแทนเพิ่มเติม และให้ยากระตุ้นความดันโลหิต และในวันที่ 7 พฤษภาคม อาการผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น ระดับความรู้สึกตัวลดลง และความดันโลหิตต่ำมาก แพทย์จึงได้เพิ่มยากระตุ้นความดันโลหิตจนถึงจำนวนสูงสุดที่จะเพิ่มได้แล้ว แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ผู้เสียชีวิตอีกรายเป็นหญิงไทย อายุ 67 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง โดยปัจจัยของการติดเชื้อเกิดจาการติดเชื้อภายในครอบครัวอีกเช่นกัน ซึ่งในวันที่ 22 เมษายน ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดแล้วพบว่ามีผลเป็นบวก จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามและส่งเข้าโรงพยาบาลสันทราย จากนั้นมีอาการไอหายใจเหนื่อย จึงส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แรกรับมีอาการหายใจเร็วเริ่มยาต้านไวรัสชนิดฉีด ยาปฏิชีวนะและยาลดการอักเสบของปอดในทันที รวมถึงได้ทำการฟอกเลือดเพื่อขับของเสียที่ส่งผลให้มีการอักเสบของปอดออกจากร่างกายรวมด้วย วันที่ 6 พฤษภาคมผู้ป่วยมีอาการทรุดลง หายใจหอบ ออกซิเจนต่ำลงอย่างมาก จึงได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจและต่อเครื่องช่วยหายใจ เพื่อประคับประคองอาการทางปอด และในวันที่ 7 พฤษภาคมผู้ป่วยเริ่มไม่รู้สึกตัว มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งคาดว่าเกิดจากเชื้อไวรัส หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ แพทย์ได้ทำให้สารน้ำ ยากระตุ้นความดันโลหิต และยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และท้ายที่สุดคลำชีพจรผู้ป่วยไม่ได้ แพทย์ผู้รักษาได้ทำการการปั๊มหัวใจ ใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เป็นเวลานานถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา โดยขณะนี้พบว่า แม้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะลด แต่ยังคงมีผู้ป่วยหนักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งทางคณะแพทย์ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อรักษาทุกชีวิตไว้ให้ได้