กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาแรงงานต่างชาติลักลอบเข้าประเทศ อาจนำเชื้อโควิด 19 มาแพร่ในประเทศ กำชับให้จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนเฝ้าระวัง ขอฝ่ายปกครองกำกับติดตาม และขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแส
เมื่อวันที่ 10พฤษภาคม 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,630 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,622 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย รักษาหายเพิ่ม 1,603 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม 29,376 ราย ในจำนวนนี้ปอดอักเสบ 1,151 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 389 ราย และมีผู้เสียชีวิต 22 ราย ในกทม. 13 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ปทุมธานี สุพรรณบุรี ระยอง สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น มหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง อ้วน มะเร็ง ปอดเรื้อรัง ไตเรื้อรัง และติดเตียง โดยติดเชื้อในครอบครัว จากเพื่อนร่วมงาน สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปที่คนแออัด (ตลาดร่วมงานศพ) ขับรถแท็กซี่และจากจังหวัดเสี่ยง
โดยวันนี้ กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อรวม 1,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของการติดเชื้อทั้งหมด แนวโน้มการระบาดชะลอตัว ยังพบผู้ติดเชื้อในชุมชน เช่น คลองเตย สี่แยกมหานาค ปากคลองตลาด แฟลตดินแดง บางแคบริเวณห้างสรรพสินค้าและชุมชนใกล้เคียง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งคัดกรองนำผู้ติดเชื้อออกมาดูแลและกักกันกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่ 1 เม.ย ถึง 9 พ.ค.คัดกรองไปแล้ว 113,642 ราย พบการติดเชื้อร้อยละ 2.84 ส่วนปริมณฑลยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง แนวโน้มการระบาดของโรคคงตัว เน้นคัดกรองเชิงรุกใน ชุมชน และสถานที่เสี่ยง ที่อาจมีแรงงานต่างด้าวลักลอบอาศัย พร้อมมอบกรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพหารูปแบบรองรับผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมาก เช่น ในกลุ่มสีเขียวให้มีระบบกักตัวในชุมชน อาจใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน โรงเรียน เป็นพื้นที่กักตัว
“ในภูมิภาค 71 จังหวัด การระบาดมีแนวโน้มลดลงวันนี้พบผู้ติดเชื้อรวม 622 ราย ได้กำชับให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดประเทศเพื่อนบ้านคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งประสานฝ่ายปกครองกำกับติดตามป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ และเพิ่มการฉีดวัคซีนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่าน ตำรวจ และทหาร ที่ทำหน้าที่จับกุมผู้ลักลอบผ่านช่องทางธรรมชาติ ขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแสหากพบการขนส่งแรงงานลักลอบเช้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในประเทศ”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศ ขณะนี้จัดสรรวัคซีนไปแล้ว 2,427,452 โดส จำนวนการฉีดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.-9 พ.ค. 2564 รวม 1,809,894 โดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,296,440 ราย วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 513,454 ราย ส่วนภาพรวมการบริหารจัดการเตียงโควิด ใน กทม. วันที่ 9 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อติดต่อสายด่วนต่างๆจำนวน 387 ราย ได้เตียงแล้ว 197 ราย ประสานได้เตียงแล้วรอดำเนินการต่อ 177 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดทีมจิตอาสารับ-ส่งผู้ติดเชื้อ ใน 6 โซน กทม. ขอนำส่ง 165 ราย นำส่งได้ 158 ราย ปฏิเสธ 7 ราย มีทีมพร้อมในพื้นที่ 33 ทีม และทีมพร้อมในที่ตั้ง 121 ทีม