“บิ๊กตู่” ยกฉีดวัคซีนโควิด เป็นวาระแห่งชาติ ชวนประชาชนฉีดลดอาการรุนแรง เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รองรับมาตรการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 12.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผย การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหาและการกระจายวัคซีนแก่ประชาชน เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทย จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าวัคซีนที่จัดหาโดยรัฐบาลทุกชนิดมีการตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยมีการฉีดวัคซีนกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกกว่า 10 ล้านคน รวมถึงผู้นำในหลายประเทศด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศยืนยันว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกชนิดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ พร้อมป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้เกือบร้อยละร้อย และอัตราการเกิดผลข้างเคียงมีน้อยมากหากเปรียบเทียบกับโอกาสในการติดเชื้อ และโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อสูงกว่าการเสียชีวิตจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน และในการฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง จะมีแพทย์ประเมินความเหมาะสมและเฝ้าดูอาการหลังการฉีดอีกด้วย นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่พบผู้ได้รับผลข้างเคียง จากการเปิดลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนผ่านระบบ “หมอพร้อม” สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.6 ล้านคน ในกรุงเทพมหานครมากกว่า 5 แสนคน ตามด้วยจังหวัดลำปางมากกว่า 2 แสนคน ซึ่งมีการลงทะเบียนมากที่สุดในประเทศหากนับตามสัดส่วนประชากร โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการมีส่วนร่วมในพื้นที่อย่างดีเยี่ยม และขอขอบคุณการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมขอให้ทุกจังหวัดเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้พิจารณาโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่นตนเอง ที่จะเร่งดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาลง โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเป็นกลไกสำคัญภายใต้การกำกับติดตามของรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบการเพิ่มวงเงินสนับสนุนในโครงการ “เราชนะ” คนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้มากกว่า 33.5 ล้านคน และเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 โครงการ “เรารักกัน” อีก 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พร้อมขยายระยะเวลาดำเนินโครงการถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 8 ล้านคน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นการทำงานของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่ตัดสินใจร่วมกันจากข้อมูลที่พิสูจน์ได้ เพื่อแก้ไขอุปสรรคและปัญหาตามหลักสาธารณสุข บูรณาการร่วมกับ ศบค. ว่าจะสามารถผ่อนคลายส่วนใดได้บ้าง พร้อมยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชน คลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ เตรียมความพร้อมประเทศไทยไปสู่อนาคตเพื่อตอบรับโอกาสที่จะมาถึง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับมาตรการและข้อกำหนดต่าง ๆ ตามองค์กรระดับสากลในหลายประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศ