กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 ลูกหลาน ช่วยลงทะเบียน หมอพร้อม หรือพาไปลงทะเบียนที่ รพ.สต./ รพ.ใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวันที่ 7 มิ.ย. ย้ำฉีดวัคซีนเข็มแรกป้องกันการป่วยได้ร้อยละ 76 และลดการเสียชีวิตร้อยละ 80
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) ที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19
ดร.สาธิตกล่าวว่า การลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 ผ่านหมอพร้อม ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งมี 16 ล้านคน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน การลงทะเบียนที่ผ่านมามีจำนวนน้อย 1.7 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของจำนวนทั้งหมด อาจเพราะความกังวลในอาการไม่พึงประสงค์ของการฉีดวัคซีน และปัญหาการเข้าถึงระบบหมอพร้อมผ่านไลน์และแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจยังช้าอยู่ ทั้งนี้การให้วัคซีนแก่สองกลุ่มนี้ก่อน เพื่อรักษาและคุ้มครองชีวิต ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยคนกลุ่มอื่น ไม่ว่ากลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง กลุ่มที่ทำงานด่านหน้า หรือกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่จำเป็นด้านเศรษฐกิจที่จัดลำดับไว้ โดยการเปิดลงทะเบียนหมอพร้อมในสองกลุ่มนี้ก่อน สัมพันธ์กับจำนวนวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะได้รับช่วงแรก มิ.ย. และ ก.ค.
“วันนี้ผมอยากสื่อสารและกระตุ้นคนไทยทั้งประเทศว่า ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ขอให้คนไทยทุกคนช่วยผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ช่วยพา 2 กลุ่มนี้เข้าถึงระบบหมอพร้อมให้เร็วและมากที่สุด โดยลูกหลานอาจช่วยลงทะเบียนให้ผ่านหมอพร้อม หรือแจ้งอสม. รพ.ใกล้บ้าน รพ.สต. ขอให้ช่วยกันเพื่อรักษาคุ้มครองชีวิตคนสองกลุ่มนี้ ส่วนการฉีดกลุ่มอื่นก็เตรียมงานคู่ขนานไป และอาจจะฉีดได้เร็วตามการจัดหาวัคซีนที่ได้มา ทั้งนี้ การมีวัคซีนไม่สำคัญเท่าการได้ฉีด เราต้องช่วยคนในบ้าน พาไปรับลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับการฉีดเร็วที่สุด” ดร.สาธิตกล่าว
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการหนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง เราจึงให้วัคซีน 2 กลุ่มนี้ก่อน เพราะผลการศึกษาวิจัยวัคซีนทุกชนิดช่วยลดการป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยอาการหนักอยู่ในโรงพยาบาลจำนวนมาก มีเตียงรับผู้ป่วยอาการหนัก 956 เตียง ใช้ไป 85 % เหลือว่างในโรงพยาบาลภาครัฐ 44 เตียง เอกชน 95 เตียง การเสียชีวิตระลอกเมษายนสะสม 358 ราย วันนี้ 31 ราย ผู้เสียชีวิตร้อยละ 86 มีโรคประจำตัว และเป็นผู้สูงอายุ มีสาเหตุการติดเชื้อร้อยละ 58 มาจากคนในครอบครัว ญาติมาเยี่ยม และเพื่อน ร้อยละ 18 ไปแหล่งชุมชน ร้อยละ 5 มีอาชีพเสี่ยง และจากข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศอังกฤษ หลังฉีดวัคซีนได้ร้อยละ 30-40 พบว่าอัตราการป่วย และการเสียชีวิตลดลง สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นวัคซีนหลักจะเริ่มฉีดวันที่ 7 มิถุนายนนี้ มีรายงาน ว่าสามารถป้องกันการป่วยได้ตั้งแต่ฉีดเข็มแรกร้อยละ 76 และลดการเสียชีวิตร้อยละ 80 ตั้งเป้าหมายเร่งรัดการฉีดเข็มที่ 1 ให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด
“ผลข้างเคียงของวัคซีนพบน้อยมาก แต่ประชาชนได้รับข้อมูลด้านนี้มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และมีระบบดูแลความปลอดภัย สังเกตอาการ 30 นาที หากมีอาการแพ้รุนแรงสามารถดูแลได้ทันท่วงที ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ย้ำว่าวัคซีนมีประโยชน์มาก ทั้งลดการนอนโรงพยาบาล ลดการเสียชีวิต รวมทั้ง ยังลดการแพร่กระจายโรคในครอบครัวได้ถึงร้อยละ 50 และเมื่อฉีดได้ครอบคลุมเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้กลับมาใช้ชีวิตแบบ New normal ขับเคลื่อนประเทศ เดินหน้าเศรษฐกิจต่อไปได้” นายแพทย์โสภณกล่าว
นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) ที่ปรึกษาระดับกระทรวง กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทะเบียนรับวัคซีนในระบบหมอพร้อม ใน 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก ช่องทางการเข้าถึงระบบหมอพร้อม ได้ออกแบบไว้ทั้งระบบดิจิตอลและอนาล็อก ช่องทางที่ 1 ระบบดิจิตอล คือ Application และไลน์หมอพร้อม เป็นช่องทางสำหรับประชาชนเขตเมืองที่มีสมาร์ทโฟน ช่องทางที่ 2 ระบบอนาล็อก สำหรับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด และพื้นที่ชนบท จะมีอสม.ในพื้นที่เข้าไปสำรวจข้อมูล หรือแจ้งความประสงค์ผ่านรพ. สต ใกล้บ้าน โดยทั้ง 2 ทางเชื่อมโยงข้อมูลกันและนำเข้าสู่ฐานข้อมูลระบบหมอพร้อม จากตัวอย่างในเขตกทม. ได้ตั้งเป้าหมาย 1.2 ล้านคน ขณะนี้มีจองเข้ามาแล้วประมาณ 6 แสนคน ส่วนใหญ่จะลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันและไลน์หมอพร้อม และในต่างจังหวัด มีตัวอย่างที่ดีคือลำปางโมเดล มีการออกแบบ ให้ อสม.และรพ. สต. กรอกข้อมูลเข้ามาในระบบฐานข้อมูลฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้มากกว่า 2.2 แสนคน และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายจังหวัดอยู่ในระหว่าง อสม.ออกไปสำรวจข้อมูล และทยอยคีย์ข้อมูลเข้าระบบ
ประเด็นที่ 2 องค์ประกอบของ Application และไลน์หมอพร้อม มี 3 ส่วน 1.เพิ่มเพื่อน LINE หมอพร้อม หรือโหลด Application หมอพร้อม 2.โรงพยาบาลจะต้องเปิดระบบคิวให้จอง และ 3.โรงพยาบาลต้องนำรายชื่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังเข้าระบบ ต้องมีครบทั้ง 3 ส่วน จึงจะสามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ และประเด็นที่ 3 ปัญหาที่พบในช่วงนี้คือ ไม่สามารถเลือกและจองคิวโรงพยาบาลได้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในกทม. และเป็นโรงพยาบาลเอกชน อาจมาจากโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะเลือกให้บริการเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาอยู่กับโรงพยาบาลก่อน ยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เคยมารับบริการเข้ามาจองในระบบ หรือโรงพยาบาลนั้นมีคนจองเต็มแล้วหรือโรงพยาบาลอาจจะกำหนด เปิดเฉพาะกลุ่ม เช่น วันนี้สำหรับผู้สูงอายุ หรือพรุ่งนี้สำหรับกลุ่มโรคเรื้อรังก่อน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการของโรงพยาบาล ขอให้ท่านเลือกโรงพยาบาลอื่นจากฐานข้อมูล ขณะนี้ในกรุงเทพฯ ยังเหลืออีกประมาณ 7 แสน ถึง 8 แสนคิว ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐที่ยังสามารถจองได้
สำหรับคำถาม ผู้ที่มีรายชื่อไม่ตรง เช่น ชื่อถูก นามสกุลผิด อาจเกิดจากการส่งรายชื่อจากหลายโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ไม่ตรงกัน หรือมีการเปลี่ยนนามสกุล สามารถแจ้งขอแก้ไขข้อมูลได้ที่โรงพยาบาลที่รักษาใกล้บ้านหรือโทรเข้าสายด่วนหมอพร้อม 02792 2333 ขณะนี้ได้เพิ่มคู่สายเป็น 100 คู่สาย จะเพิ่มเป็น 160 คู่สาย และให้บริการ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป สำหรับประชาชนที่มีบัตรประชาชนแบบเก่าที่เป็นแบบแถบแม่เหล็ก ขณะนี้ได้ประสานไปยังกรมการปกครองเพื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้ว สามารถลงทะเบียนหมอพร้อมได้
สำหรับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานคลินิกเอกชนในต่างจังหวัด ติดต่อที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่วนกทม.ติดต่อได้ที่สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่มีรายชื่อก็สามารถแจ้งกับสถานพยาบาลใกล้บ้านที่รักษาอยู่เป็นประจำได้ และได้แก้ไขระบบให้ผู้ที่เกิดก่อน 1 มกราคม 2505 ลงทะเบียนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี สำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังไม่จัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง หากมีความกังวลขอให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่เป็นผู้พิจารณา ส่วนกลุ่มโรคอ้วนซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีน ขอให้ไปแจ้งชื่อกับโรงพยาบาลที่รักษาอยู่เพื่อนำชื่อเข้าระบบต่อไป