สสส. แนะวิธี กิน ฟิต ติดบ้าน ต้านโควิด-19
ในช่วงนี้ที่ไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 หลายหน่วยงานอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อความปลอดภัยและหยุดการแพร่กระจายของโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกันอาจส่งผลให้พฤติกรรมสุขภาพในการดำรงชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป และอาจทำให้หลายคนเสี่ยงที่จะเป็นโรคกลุ่ม NCDsc
กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นผลจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรค NCDs หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง และนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่คือคนที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ อัมพาต ไตเรื้อรัง และปอดเรื้อรัง ดังนั้น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีกลุ่มโรค NCDs เป็นกลุ่มที่เสี่ยงมาก
“เราทุกคนเป็นคนปกติ แต่เมื่ออยู่ไปอยู่มาเราจะเสี่ยงได้ เพราะพฤติกรรม เมื่อเสี่ยงสักพักก็จะเป็นโรค และเมื่อเกิดโรค NCDs แล้ว จะมีโรคแทรกซ้อนตามมาเสมอ แล้วเมื่อมีโรคแทรกซ้อนมากๆในระยะสุดท้าย เราจะต้องมีคนมาช่วยดูแล แต่ NCDs สามารถป้องกันได้ เพราะถ้าเรายังปกติ เราควรจะป้องกันไม่ให้เราเป็นคนเสี่ยง ถ้ามีความเสี่ยงแล้วเราก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั่นเอง” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว
นอกจากนี้ อายุที่มากขึ้นและพันธุกรรม เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค NCDs เหมือนกัน แต่เราแก้ส่วนนี้ไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ การปรับวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเราเอง ได้แก่
1.อาหาร – กินปริมาณพอเหมาะ อ่อนหวาน มัน เค็ม มีผัก ผลไม้ทุกมื้อ เลือกบริโภคข้าวหรือแป้งขัดสีน้อย มีธัญพืชและถั่วทุกวัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มผสมน้ำตาลและแอลกอฮอล์
2.กิจกรรมทางกาย – ออกกำลังกายหนัก ปานกลาง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เสริมด้วยการฝึกแรงต้านและยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกาย และเคลื่อนไหวร่างกาย 5-10 นาที ทุก 1-2 ชม.
3.การนอนหลับ – เข้านอนเป็นเวลา ประมาณ 22.00 น. และนอนวันละไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง
4.ภาวะทางจิตใจและสังคม – ฝึกสมาธิ หาวิธีผ่อนคลายกับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนสนิท
5.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6.ไม่สูบบุหรี่ ไม่อยู่ในที่ที่ไม่มีควันบุหรี่เป็นเวลานาน และคนในบ้านต้องไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันภัยจากควันบุหรี่มือสาม
เมื่อต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น เราจะกินอาหารและออกกำลังกายอย่างไร หลายคนเริ่มเห็นความสำคัญในส่วนนี้ เพราะยุคนี้เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งนัก จากไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ก็เริ่มหาแรงบันดาลใจและวิธีการที่สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน จากเลือกกินอาหารที่ถูกปาก กลับต้องมานั่งคิดทบทวนว่าอาหารที่กินไปแต่ละมื้อ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายคนไทยไร้พุง และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. แนะนำว่า การมีภูมิร่างกายที่ดี คือการมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ การสร้างภูมิต้านทานทำให้เราติดโควิดได้ยากขึ้น หรือเมื่อติดแล้วจะมีโอกาสรุนแรงและเสียชีวิตได้น้อยลง ดังนั้น อาหารและโภชนาการจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง โดยสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้
1.เน้นกินอาหารไทยครบ 5 หมู่ ที่มีพริก ขิง กระชาย
2.พยายามหาโอกาสทำอาหารกินเองที่บ้าน
3.ถ้าจะสั่งอาหารนอกบ้านต้องให้ครบ 5 หมู่
4.สร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านให้คนเข้าถึงอาหารว่างที่ดี เช่น การปฏิวัติตู้เย็น และมีผลไม้พร้อมกินอยู่ในบ้าน
ด้าน ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง แนะนำว่า พฤติกรรม นั่งนอนมาก นั่นคือ กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ไม่ฟิต ติดเตียง หรือฟิตแต่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สัมพันธ์กับการเพิ่มการนอนไอซียู และการเสียชีวิตจากโควิด-19 ดังนั้น ผศ.นพ.สมเกียรติ จึงเน้นย้ำว้า “ลดนั่ง เพิ่มยืนเดิน ไม่เพลินนั่งนอนกิน” สิ่งเหล่านี้จะเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานได้ด้วยตัวเราเอง
สิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ปกปิดข้อมูล เพราะรางวัลที่ดีที่สุด คือสุขภาพดีขึ้นและห่างไกลโควิด -19 สสส. ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง และสมาคมโรคเบาหวานฯ ชวนคนไทย “ฟิตติดบ้านต้านโควิด-19” ขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมกิจกรรมออนไลน์จัดต่อเนื่องรายสัปดาห์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 ได้แก่ ตัวเลขเบรกโรค, ฟิตติดบ้าน, กินที่บ้านต้านโรค เป็นกิจกรรมที่ออกแนวสาระบันเทิงที่นำสู่การเรียนรู้สุขภาพ วิธีกิน วิธีอยู่ ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เบื่อหน่ายกับการอยู่บ้าน