กรมอนามัย ห่วงผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและวัยทำงานเสี่ยงโควิด-19  ทำลายปอด แนะ 6 ท่าบริหารปอดเพื่อเสริมสร้างปอดให้แข็งแรง

654

กรมอนามัย ห่วงผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและวัยทำงานเสี่ยงโควิด-19  ทำลายปอด แนะ 6 ท่าบริหารปอดเพื่อเสริมสร้างปอดให้แข็งแรง

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 มีความรุนแรงกว่าที่ผ่าน ๆ มา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแต่ละวันเป็นจำนวนมาก กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด หอบหืด รวมทั้งผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงลำดับต้น ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกลุ่มนี้ปอดทำงานได้น้อยลง จากทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซี่โครง และกระบังลมที่ลดลง รวมถึงกลุ่มวัยทำงานแม้จะมีสภาพร่างกายแข็งแรงกว่ากลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแต่การดูแลสุขภาพและปัจจัยด้านต่าง ๆ ก็มีความจำเป็น

ดังนั้น การบริหารปอดเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรง และยังช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งทุกคนสามารถทำด้วยตนเองได้ที่บ้าน

หลักการเสริมสร้างสมรรถภาพปอดทำได้ด้วยการฝึกการขยายตัวของปอด ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อกระบังลม นอกจากนี้ การวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ Kaiser Permanente Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า  ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าถึง 2.26 เท่า และมีความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 น้อยกว่าถึง 2.49 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีกิจกรรมทางกายไม่ถึงระดับตามคำแนะนำแต่ยังมีอย่างสม่ำเสมอ ก็มีความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลและมีความเสี่ยงการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีกิจกรรมทางกายเลยอย่างชัดเจน

สำหรับวิธีฝึกเสริมความแข็งแรงปอดสามารถทำได้ 6 ท่า ดังนี้ 

ท่าที่ 1 พุงป่อง นั่งตัวตรง วางมือทั้งสองข้างที่หน้าท้อง หายใจเข้าท้องป่อง แต่อกไม่ขยาย หายใจออกท้องแฟบ

ท่าที่ 2 อกนิ่ง นั่งตัวตรง วางมือซ้ายบริเวณหน้าอก มือขวาวางบริเวณใต้ลิ้นปี่ หายใจเข้าท้องป่อง แต่อกไม่ขยาย หายใจออกท้องแฟบ

ท่าที่ 3 ขยับซี่โครง นั่งตัวตรง มือทั้งสองข้างวางบริเวณตำแหน่งชายโครงด้านข้าง หายใจเข้าทางจมูกให้ซี่โครงบานออก หายใจออกช้า ๆ ทางปากให้ซี่โครงหุบลง

ท่าที่ 4 ชูมือ ยืดอก หายใจเข้าทางจมูกพร้อมยก แขนทั้งสองข้างขึ้นด้านหน้า และหายใจออกทางปากยาว ๆ พร้อมผ่อนแขนลง

ท่าที่ 5 กางปีก ขยายปอด ยกแขนขึ้นประสานกันด้านหน้า หายใจเข้าทางจมูก พร้อมกางแขนออกด้านข้างทั้งสองข้าง และหายใจออกทางปากยาว ๆ กลับสู่ท่าเดิม

ท่าที่ 6 ยืดสะบัก ขยับศอก มือทั้งสองข้างประสานท้ายทอยหายใจเข้าทางจมูก พร้อมกางข้อศอกออก และหายใจออกทางปากยาว ๆ พร้อมกับหุบศอกและโก่งหลัง

สำหรับการหายใจเข้า และออกแต่ละครั้งใช้เวลาครั้งละประมาณ 5 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อรอบ 3-5 รอบ พัก 30-60 วินาที ระหว่างรอบ ซึ่งทั้ง 6 ท่า จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอาการเหนื่อย หายใจลำบาก ช่วยขับเสมหะ และป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ

 

ที่มา : สสส.

ลิ้งค์บทความ : https://1th.me/uvO3G