สสส.ห่วงเด็กไทย ติดมือถือ ช่วงโควิด-19 พร้อมแนะไอเดียลดความเสี่ยงเด็กติดมือถือ
สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดระลอก 3 ชั่วโมงนี้ยังไม่มีทีท่าจะยุติ สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทะลุ 2,000 คน ต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงที่โรงเรียนทั่วประเทศปิดภาคเรียน และกระทรวงศึกษาธิการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พ.ค. เป็นวันที่ 1 มิ.ย. ส่วนสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยถูกสั่งปิดลดความเสี่ยงของการระบาดไม่มีกำหนด ทำให้เด็กเตรียมอนุบาล เด็กอนุบาล และเด็กปฐมวัย ต้องอยู่บ้านทุกวัน ขณะที่ผู้ปกครองยังต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลเด็ก หลายครอบครัวให้ลูกหลานเล่นมือถือหรือแท็บเล็ต เพราะมองว่าทำให้เด็กอยู่นิ่งเป็นเวลานานได้ในบ้าน
ในทางกลับกันการทิ้งเด็กไว้กับหน้าจอมากจนเกินไป สร้างปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้เด็กพูดช้า สื่อสารน้อย เนือยนิ่ง ไม่ขยับ ก้าวร้าว ไม่เข้าสังคม นอนน้อย พัฒนาการช้า สมาธิสั้น และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นติดมือถือ ช่วงเด็กๆ กักตัวสู้โควิดนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำแนวทางเบื้องต้นในการดูแลลูกๆ ให้ปลอดภัยจากพฤติกรรมติดมือถือ แถมแชร์ไอเดียทำมุมเล่นในบ้าน เติมเต็มความอบอุ่นแบบไร้โควิด
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส.มีความเป็นห่วงว่า สถิติเด็กติดจอใสหรือติดมือถืออาจเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ปกครองปล่อยให้เด็กเล่นอุปกรณ์เหล่านี้ครั้งละนานๆ เป็นประจำ ที่ผ่านมา สสส. ส่งเสริมระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดมือถือ เพื่อปรับวิธีคิดของผู้ปกครองให้รู้วิธีสื่อสารอย่างสร้างสรรค์กับลูก ช่วยทำให้ครอบครัวอบอุ่น ลดพฤติกรรมการติดมือถือทั้งผู้ปกครองเองและตัวเด็ก มีผู้ปกครองจำนวนมากลงทะเบียนเข้าระบบเรียนรู้ออนไลน์ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมติดมือถือและสื่อจอใสชนิดอื่นๆ โดยไม่เหมาะกับวัยเป็นเรื่องที่สำคัญ วัยนี้เรียนรู้ผ่านการเล่น ช่วยให้เด็กฝึกใช้ร่างกาย ใช้ความคิดสร้างสรรค์และแก้ปัญหาเสริมสร้างความสุข เป็นพื้นฐานให้สุขภาพใจแข็งแรง
รายงานองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติตอกย้ำการเล่นเป็นสิทธิของเด็ก เด็กควรได้เล่นแบบอิสระวันละไม่น้อยกว่า 1-2 ชั่วโมง ช่วยพัฒนาทักษะเด็กหลายด้าน ช่วงโควิดระบาด เด็กต้องอยู่บ้านกับครอบครัว การเล่นกับผู้ปกครอง ทำให้เด็กมีความสุข ไอเดียที่ทำได้เลย คือ การนำของใช้ในบ้านมาเป็นของเล่น เช่น กาว กระดาษ กระบะทราย หรือจานชามเครื่องครัวที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องควักเงินซื้อของเล่นราคาแพง และเป็นทางเลือกให้ออกจากหน้าจอ สนุกกับของเล่นได้ตามใจชอบ
การดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้ปกครองควรพาเล่านิทาน ร้องเพลง ชวนเล่นแบบเคลื่อนไหวร่างกายเยอะๆ ให้เด็กได้เดิน วิ่ง ปีนป่าย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อทุกมัด ส่วนเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปที่อยากเล่นมือถือก็ควรเล่นพร้อมผู้ปกครองแต่ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง ช่วงวิกฤตผู้ปกครองควรใช้โอกาสที่ได้อยู่บ้านกับลูกสร้างสายใยครอบครัว
สสส.ชวนพ่อแม่ลูกใช้เวลาร่วมกันภายใต้ชื่อ “กิน กอด นอน เล่น เล่า และช่วยกันทำงานบ้าน” กิจกรรมมีทั้งทำอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ กอดหรือปลอบเมื่อเด็กไม่สบายใจ ทำของเล่นร่วมกับเด็ก เล่านิทานและอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังก่อนนอน และให้เด็กพักผ่อนเพียงพอตามวัย
ปัญหาเด็กติดจอไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จากรายงานจับทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563 (ThaiHealthWatch) สสส. พบข้อมูลจากสถาบันจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ว่า เด็กและเยาวชนไทยติดหน้าจอมือถือหรือจอใสสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง มากกว่าสถิติโลกที่ระบุไว้ว่า ไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 16 ชั่วโมง และจากการสำรวจเด็กวัย 6 – 18 ปี จำนวนกว่า 15,000 คน พบร้อยละ 61 มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเกมออนไลน์ เล่นเกมมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง เพิ่มความไม่ปลอดภัยกับเด็กทั้งเรื่องของความรุนแรง การพนัน และสุขภาพจิต
ในทัศนะ รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กติดมือถือในประเทศไทยปัจจุบัน พบเด็กมีพฤติกรรมเข้าข่ายใช้มือถือจนติดมือถือประมาณ 20-30 % จากประชากรเด็กทั้งหมดในประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนใหญ่ติดอินเทอร์เน็ตและโซเซียลมีเดีย สื่อสังคมออนไลน์ รองลงมาคือติดเกม สุดท้าย คือ การเข้าดูสื่อลามก ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญสร้างความเข้าใจกับเด็ก เพื่อให้พวกเขาเล่นมือถือให้เกิดประโยชน์มากกว่าเป็นโทษสำหรับตัวเอง
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ลิ้งค์บทความ : https://1th.me/wQlbU