กรมการแพทย์ แนะผู้สูงอายุดูแลสุขภาพช่องปากในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 หากดูแลสุขภาพช่องปากตนเองที่บ้านได้ดี ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

311

กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรมแนะผู้สูงอายุดูแลสุขภาพช่องปากในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 หากดูแลสุขภาพช่องปากตนเองที่บ้านได้ดี ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

PqYKSv.jpg นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ผู้สูงอายุควรต้องอยู่แต่ในที่พักอาศัย ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เว้นระยะห่างทางกายภาพ และสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งในการเดินทางมาพบทันตแพทย์นั้น ไม่สามารถทำได้สะดวกเช่นเดิม อีกทั้งการรักษาทางทันตกรรมก็ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากมีความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อผ่านทางละอองฝอยในอากาศ การดูแลสุขภาพช่องปากเบื้องต้นด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางทันตกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักมีโรคประจำตัว หากสามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ดี ก็ลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อ และการมีสุขภาพช่องปากที่ดี ก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของผู้สูงอายุด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยควรมาพบทันตแพทย์ต่อเมื่อมีภาวะฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

ทันตแพทย์หญิงสุมนา โพธิ์ศรีทอง ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุนั้น อาจแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มแรกคือ ผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลุ่มนี้จะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมือและใบหน้าได้ตามปกติ การดูแลสุขภาพช่องปากจึงไม่แตกต่างจากคนปกติ คือแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ และใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันร่วมด้วย ซึ่งในผู้สูงอายุบางรายหากไม่สามารถกำด้ามแปรงที่มีขนาดเล็กได้ สามารถดัดแปลงให้ด้ามแปรงมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยใช้ฟองน้ำ ด้ามจับรถจักรยาน หรือผ้าขนหนูหุ้มด้ามจับแปรงให้ใหญ่ขึ้นหากไม่สามารถบังคับแปรงให้ขยับไปมาได้ อาจใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าเป็นทางเลือก
  • กลุ่มสองคือ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ หากทำความสะอาดช่องปากได้ไม่ดี เชื้อโรคในช่องปากสามารถเข้าสู่ปอดจากการสำลัก ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีข้อจำกัดหลายด้านในการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยผู้ดูแลในการทำความสะอาดช่องปาก โดยปรับให้ผู้สูงอายุนั่ง 30-45 องศา หรือนอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลัก ผู้ดูแลใช้ผ้าสะอาดพันรอบนิ้วมือตนเอง ชุบน้ำ เช็ดริมฝีปากผู้สูงอายุให้ชุ่มชื้น จากนั้นให้ผู้สูงอายุอ้าปาก และเช็ดทำความสะอาดบริเวณฟัน เหงือก กระพุ้งแก้ม กรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถอ้าปากเองได้ให้ผู้ดูแลค่อยๆสอดนิ้วมือเข้าไปบริเวณกระพุ้งแก้ม แล้วกดที่เหงือกด้านในสุดให้ผู้สูงอายุค่อยๆอ้าปาก แล้วใช้ไม้พันผ้าก๊อซสอดเข้าไประหว่างขากรรไกรบนและล่าง เพื่ออ้าปากไว้ตลอดช่วงเวลาที่ทำความสะอาด และใช้แปรงสีฟันที่มีขนาดเล็กกว่าปกติหรือแปรงกระจุก แปรงฟันให้ครบทุกซี่ และทุกด้าน การบ้วนน้ำให้ผู้สูงอายุดูดน้ำจากแก้วอมกลั้วในปากแล้วตะแคงหน้าด้านข้าง แล้วค่อยๆบ้วนน้ำออกมาจากมุมปาก กรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถบ้วนน้ำเองได้ ให้ผู้ดูแลใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำพันนิ้วเช็ดฟองยาสีฟันออก หรืออาจใช้น้ำยาบ้วนปากในรูปแบบของเจล เช็ดทำความสะอาดภายในช่องปาก เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในช่องปาก และลดโอกาสเกิดปอดติดเชื้อในผู้ป่วยนอนติดเตียงได้

นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ใช้ฟันเทียม ควรดูแลรักษาฟันเทียมโดยหมั่นถอดฟันเทียมมาล้างหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ แปรงฟันเทียมอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ด้วยแปรงสีฟันชุบน้ำสบู่และไม่ควรใส่ฟันเทียมนอน เนื่องจากมีความเสี่ยงติดเชื้อราในช่องปากได้ และควรถอดฟันเทียมเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ทั้งนี้หากมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดฟัน หรือเหงือกบวมอักเสบ มีหนอง สามารถขอพบทันตแพทย์เพื่อบำบัดฉุกเฉินเร่งด่วน หรือต้องการสอบถามอาการและวิธีการดูแลช่องปากเพิ่มเติม สามารถปรึกษาได้ที่เบอร์ 0 2150 5787 ต่อ 11203-04
Line : @iodforfun หรือ Inbox Facebook : สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ กรมการเพทย์