เชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 64 คาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 5–10 โดยขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 คาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 5–10 โดยขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หรือ แจ้งเหตุทาง Line Official “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (25 พ.ค. 64) ที่ห้อง POC ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในที่แถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ครั้งที่ 31/2564 ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2564 ว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2564 และในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุดมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ โดยฤดูฝนปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้ว และมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 5 – 10 สำหรับข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมในระยะ 3 ปี ย้อนหลัง (2561-2563) ของจังหวัดเชียงใหม่ นั้น มีทั้งหมด 17 อำเภอ 94 ตำบล 709 หมู่บ้าน โดยอาศัยข้อมูลจากจากการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
สำหรับ การเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2564 และแจ้งให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับปรุงแผนการเผชิญเหตุอุทกภัยฯให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้มีการเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุอยู่ตลอดเวลา และกำหนดจุด/พื้นที่ปลอดภัยประจำหมู่บ้าน/ชุมชน เส้นทางการอพยพ ตลอดจนจัดเตรียมแผนการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว กรณีมีผู้อพยพจากอุทกภัย และดินถล่ม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ระดับอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ เพื่อเป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรสาธารณกุศล โดยมอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนอาสาสมัครประชาชนจิตอาสาเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่
ทั้งนี้ หากมีกรณีน้ำท่วมขัง สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาขน ให้เร่งกำหนดแนวทางการระบายน้ำ พร้อมทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่ของหน่วยงาน ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือ และให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด/ถูกตัดขาด เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว
ขณะเดียวกันให้ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเน้นย้ำบทบาท หน้าที่ ตลอดจนสร้างความเข้าใจถึงกลไกการทำงานร่วมกันตามแนวทางของระบบบัญชาการเหตุการณ์ เมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในเขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมที่มักเกิดอุทกภัยเป็นประจำ ให้เร่งทำการขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน กำจัดพืช ขยะ เพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางออกจากทางระบายน้ำ รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ เพื่อให้สามารถรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้า/ผ่านในปริมาณมาก และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ตลอดจนสื่อแขนงต่าง ๆ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุด หากประชาชนต้องแจ้งเหตุสาธารณภัย สามารถโทรสายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านทาง Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม // ภาพ-ข่าว
ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
25 พฤษภาคม 2564