รัฐบาลเดินหน้าแก้ PM2.5 ลุยลดจุดความร้อน ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 สี่เดือนแรกลด 53% เป็นผลจากการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างกระทวง และความร่วมมือจากประชาชน
รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยแนวทางสำคัญอันหนึ่งคือการลดจุดความร้อน (Hot Spot) ลดการเผาในที่โลงแจ้ง ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) รายงานว่า เปรียบเทียบระหว่างช่วงเดือนม.ค.- เม.ย. ปีนี้ กับปีที่ผ่านมา ทุกพื้นที่ของประเทศมีจุดความร้อนลดลง ร้อยละ 53 เป็นผลจากการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างกระทวง และความร่วมมือจากประชาชน ประกอบด้วย
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา รวม 280 เครือข่าย มีการดำเนินการหลากหลายแนวทางในการจัดการเศษวัสดุตามความเหมาะสมและบริบทของชุมชน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการจัดการเศษวัสดุ เช่น การไถกลบตอซังฟางข้าว หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน นำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยหมักทดแทนปุ๋ยเคมี นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูก เป็นอาหารสัตว์ หรือพลังงานทดแทน สำหรับในพื้นที่เกษตร มีจุดความร้อนสะสมลดลง ร้อยละ 47
2. กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรการแก้ปัญหาการเผาอ้อยส่งโรงงาน หรือที่เรียกว่าอ้อยไฟไหม้ โดยออกโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงาน อัตรา 120 บาทต่อตัน เป้าหมายอ้อยสดสัดส่วน 80% ของปริมาณอ้อย คาดการณ์ประมาณ 70 ล้านตัน หรือเป็นอ้อยสด 56 ล้านตัน และมีมาตรการอื่นๆ เช่น หักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืม เพื่ออำนวยสะดวกในการตัดอ้อยสด ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด และ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น
3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการชิงเก็บลดเผา ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ให้ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อเก็บเชื้อเพลิง ใบไม้ ใบหญ้าในป่า เพื่อไปแปรสภาพให้เกิดมูลค่า เช่น ปุ๋ย เชื้อเพลิงขยะ และมีเอกชนมารับซื้อ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สามารถทำได้เกินเป้า จากที่ตั้งเป้าเก็บเชื้อเพลิงจากพื้นที่ป่า เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ตัน ปริมาณรวมเท่ากับ 1,700 ตัน ซึ่งทำได้จริง 2,250 ตัน มากไปกว่านั้น ยังได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่า ครอบคลุมการประชาสัมพันธ์เชิงรุก จัดฝึกอบรมเสริมบทบาทชุมชน เครือข่ายภาคประชาชนและจิตอาสาเพื่อร่วมเป็นชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า
แม้จำนวนจุดความร้อนจะลดลง กอปรกับเข้าฤดูฝนทำให้ช่วยคลายกังวลเรื่องไฟป่าได้บ้าง แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้มุ่งมั่นกันต่อไปอย่างต่อเนื่อง และได้ขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันจนเกิดความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ท้าทายควบคู่กับการจัดการภายในประเทศ คือ ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนในทุกด้านกับอาเซียน ที่ผ่านมาไทยถือได้ว่าเป็นผู้นำในการให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าแก่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ที่มา : รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล
ลิ้งค์ข่าว : https://www.facebook.com/Rachadaspoke/posts/525814888778680/