เชียงใหม่ วางแผนขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า ใน 3 อำเภอ ฝาง,จอมทอง,และดอยเต่า
เชียงใหม่ วางแผนขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม และสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ในอำเภอฝาง อำเภอจอมทอง และอำเภอดอยเต่า
วันนี้ (27 พ.ค. 64) ที่ ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายอิสระ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือในการจัดทำแผนนำร่อง โครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทำเป็นเชื้อเพลิง และเชื้อเพลิงอัดแท่งใช้ในอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ของคณะทำงาน ไปขับเคลื่อนการดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรม
จากการที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยได้วางแผนนำร่องโครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นเชื้อเพลิง และเชื้อเพลิงอัดแท่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม แทนการนำไปเผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ โดยวัตถุดิบที่จะนำมาใช้หลักๆ จะเป็นเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งข้าวโพด อ้อยลำไย ลิ้นจี่ เศษกิ่งไม้ ใบไม้ แกลบ และเศษวัสดุทางการเกษตรอื่นๆ ที่สามารถนำมาเผาเป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งโดยรวมแล้วแต่ละปีจังหวัดเชียงใหม่จะมีเศษวัสดุเหล่านี้จำนวนกว่า 1 ล้านตัน ขณะเดียวกันก็จะมีการนำร่องจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนใน 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย พื้นที่ตอนบนที่อำเภอฝาง ตอนกลางที่อำเภอจอมทอง และตอนล่างที่อำเภอดอยเต่า ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีกำลังการผลิตขนาด 15 เมกะวัตต์ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ โรงไฟฟ้าชีวภาพ ขนาด 3 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบ 99,000 ตันต่อปี สามารถสร้างมูลค่าการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรได้ 50 ล้านบาทต่อปี และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 12 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบ 340,000 ตันต่อปี สามารถสร้างมูลค่าการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรได้ 340 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร โดยสามารถสร้างรายได้จากการขายวัตถุดิบ มีเงินปันผลจากการเป็นหุ้นส่วนกับโรงไฟฟ้า มีรายได้จากการขายไฟฟ้า และที่สำคัญสามารถช่วยลดการเผาวัสดุทางการเกษตรไม่ให้เกิดฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อเสนอแนะจากทางคณะกรรมการ ที่ต้องการให้ผู้ดำเนินโครงการได้เข้าไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ เพื่อดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการให้ได้มากที่สุด รวมถึงสอบถามความต้องการที่แท้จริงของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็ให้มีการสรุปข้อมูลต่างๆ มาให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยต้องการให้โครงการนี้สามารถขยายผลไปได้ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
ที่มา : Pr chiangmai