คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำแนะนำสำหรับ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดได้หรือไม่? และวิธีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีควัคซีน พร้อมเน้นย้ำควรเข้ารับการฉีด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และโอกาสในการเป็นโรคโควิด-19 รุนแรง

1225

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำแนะนำสำหรับ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดได้หรือไม่? และวิธีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีควัคซีน พร้อมเน้นย้ำควรเข้ารับการฉีด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และโอกาสในการเป็นโรคโควิด-19 รุนแรง

+++วัคซีนโควิด-19 ผู้ป่วยโรคหัวใจฉีดได้หรือไม่?+++

ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวนมากมีข้อสงสัยว่าตนเองเป็นโรคหัวใจสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ เนื่องจากกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงกับตนเอง ในความเป็นจริงแล้ว หากผู้ป่วยโรคหัวใจติดเชื้อโควิด-19 เชื้อจะลามไปยังบริเวณปอดเป็นหลัก ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ภาวะการหายใจล้มเหลว รวมถึงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันตามหลอดเลือดต่างๆ ทั้งหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำทั่วร่างกาย นี่คือผลกระทบจากการติดเชื้อโดยตรง อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแล้วติดเชื้อโควิดจะเพิ่มมากกว่าคนปกติมาก หากหัวใจล้มเหลวมีโอกาส 50 ต่อ 50 เลยทีเดียว หากผู้ป่วยมีโรคหัวใจร่วมด้วย เมื่อทราบเช่นนี้แล้วความเสี่ยงจะมีเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดการติดเชื้อโควิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลอันสำคัญ ที่บุคคลที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ จำเป็นจะต้องหาทางที่ป้องกันตัวเองอย่างที่สุด ในการที่จะไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะด้วยมาตรการใดๆ วัคซีนคือมาตรการที่สำคัญมากที่จะช่วยลดการติดเชื้อตัวนี้ ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จัดเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก และข้อมูลจากการฉีดวัคซีนทั่วโลกเท่าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความปลอดภัย ในการได้รับวัคซีนโควิด-19

+++ยาโรคหัวใจมีผลต่อวัคซีนหรือไม่+++

ยาโรคหัวใจทุกชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลว่ามีอันตรกิริยา ที่มีปัญหากับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยร่วมกัน ยาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อาจมีข้อกังวลอยู่บ้าง เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากว่าวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หลายคนจึงอาจมีความกังวลว่าจะทำให้เลือดออกได้หรือไม่ ปัจจุบันคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ให้การรับรองว่าสามารถฉีดได้อย่างปลอดภัย ที่ผ่านมานั้นได้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวัคซีนอื่นๆเข้ากล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรคหัวใจ หากระดับยาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ดังนั้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน หรือยาอื่นๆเช่น ยาโคลพิโดเกรล สามารถที่จะรับวัคซีนได้อย่างไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถที่จะปรีกษาแพทย์ซึ่งอาจจะมีการประเมินระดับยากันเลือดแข็งตัว เป็นต้น ในช่วงก่อนการฉีดวัคซีนนั้น
หลังการฉีดวัคซีนควรกดให้นานขึ้น ก็จะไม่มีปัญหาการเกิดก้อนเลือดขึ้นในใต้ผิวหนัง

+++เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 มีผลข้างเคียงหรือไม่+++

เป็นประเด็นของผู้ผ่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อาจจะกังวลว่าตัวเองจะมีผลข้างเคียงจากวัคซีนมากกว่าบุคคลทั่วไปหรือไม่ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจนั้น จากข้อมูลการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาไม่พบว่ามีผลกระทบ ไม่มีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลปกติ สำหรับคนเอเชียอุบัติการณ์เหล่านี้พบน้อยมาก หากติดเชื้อโควิด อุบัติการณ์การเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะสูงกว่านั้นมากเทียบไม่ได้เลยกับการฉีดวัคซีน

+++ผู้ป่วยโรคหัวใจควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ารับวัคซีน+++

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่แตกต่างจากบุคลลทั่วไป ให้นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ รับประทานยาตามปกติตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่อมาถึงสถานที่รับวัคซีนต้องสังเกตอาการก่อนว่าตนเองมีประวัติแพ้ยาหรือไม่ มีประวัติแพ้วัคซีนหรือเปล่า วันที่มาฉีดวัคซีนมีไข้หรือไม่ หากรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด วันนั้นอาจจะต้องสังเกตด้วยว่ามีก้อนเลือดเพิ่มขึ้นผิดปกติไหม หากมีอาจจะต้องแจ้งแพทย์ การจัดความสำคัญของการฉีดวัคซีนประเทศใดก็ตาม จะจัดให้ประชากรกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคหัวใจล้มเหลวได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ โดยภาพรวม ตนเองต้องพิจารณาว่า ตนมีโอกาสติดเชื้อมากน้อยเพียงใดและมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ วัคซีนบางตัวอาจจะมีประสิทธิภาพในการป้องการการติดเชื้อไม่สูงมาก แต่สิ่งที่ทำได้คือป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการหนัก ป้องกันการเสียชีวิตได้ ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนทุกตัวที่มีอยู่สามารถทำได้และเรามุ่งหวังตรงนั้นเป็นพิเศษ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามผ่านช่องทาง
: Facebook https://fb.watch/5O4dsUi99X/