นายกรัฐมนตรี สนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ จัดสรรงบประมาณกว่า 2,806 ล้านบาท ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนของภูมิภาค
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้คนไทยมีศักยภาพในการคิดค้นและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เอง จึงได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2,806 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ และสำหรับเป็นทุนหนุนในการเพิ่มศักยภาพประเทศของไทย พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันและการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณวงเงิน 1,810.68 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 995.03 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 2,805.71 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการผลิตวัคซีน
โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว เป็นทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ดังนี้
1)บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด (650 ล้านบาท) เพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด DNA
2)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (200 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต้นแบบที่พร้อมทดสอบทางคลินิกและการเตรียมพร้อมผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับการระบาดของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์
3)บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (160 ล้านบาท) เพื่อการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศโดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์
4)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (562 ล้านบาท) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ตามความต้องการของประเทศ โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ และพัฒนาห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นใช้เองในประเทศ 5)องค์การเภสัชกรรม (156.8 ล้านบาท) เพื่อเตรียมความพร้อมการแบ่งบรรจุวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศ
6)บริษัท องค์การเภสัชกรรม – เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด (81.88 ล้านบาท) เพื่อขยายศักยภาพการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมรองรับการผลิตวัคซีนสำหรับประชาชนไทยด้วย
นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่: กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 995.03 ล้านบาท ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อเป็นทุนสำหรับการวิจัยพัฒนาวัคซีน และการสร้างศักยภาพการผลิตเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยหน่วยงานผู้รับทุนมีดังนี้
1)ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (365 ล้านบาท)
2)บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (596.24 ล้านบาท) ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลจะได้รับทุนคืนทั้งหมด โดยได้มีการระบุไว้ในสัญญาการรับทุนว่า เมื่อบริษัทฯสามารถผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานของแอสตราเซเนกาแล้ว จะส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทยในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากับทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนฯ จึงไม่ใช่เป็นการให้เปล่า แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในขั้นต้นเพื่อให้เป็นผลสำเร็จเท่านั้น
3)ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (33.79 ล้านบาท)
วงเงินงบประมาณกว่า 2,806 ล้านบาทนี้ จะช่วยในการสร้างรากฐานและพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยวัคซีนของประเทศเพื่อรับมือการระบาดในครั้งนี้และการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสุขภาพ พึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้ในอนาคต รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนของภูมิภาคในอนาคตด้วย