ปภ. ประสาน 24 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ช่วงวันที่ 13 – 14 มิ.ย. 64
12 มิ.ย.64 เวลา 07.30 น. กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 24 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 13 – 14 มิ.ย. 64 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (89/2564) ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2564 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนืออย่างช้าๆ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณภัยสังคมนิยมเวียดนามตอนบน
กอปภ.ก.โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 24 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในช่วงวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2564 แยกเป็น
สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ดังนี้
-ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
สถานการณ์ดินถล่ม ดังนี้
-ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ เลย
รวมถึงสั่งการ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝนพร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์“ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน“พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป