สธ. เผยพบ 68 รายเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด สรุปแล้ว 13 รายไม่เกี่ยวข้อง ส่วนอีก 55 ราย อยู่ระหว่างสอบสวน

765

สธ. เผยพบ 68 รายเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด สรุปแล้ว 13 รายไม่เกี่ยวข้อง ส่วนอีก 55 ราย อยู่ระหว่างสอบสวน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 16 มิ.ย. ทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวม 7,003,783 โดส สำหรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 จำนวน 5,060,090  โดส พบมีอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มที่มีอาการจนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 993 ราย คิดเป็นอัตรา 20 รายต่อการฉีดแสนโดส อาการที่พบบ่อยจากมากไปหาน้อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ผื่น ปวดกล้ามเนื้อ  ท้องเสีย และคัน ถือเป็นอาการที่พบได้เหมือนวัคซีนอื่น ๆ

ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดแล้ว 1,943,693 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 472 ราย คิดเป็นอัตรา 24 รายต่อการฉีดแสนโดส อาการที่พบบ่อยจากมากไปหาน้อย คือ ไข้ ปวดศีรษะ  เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และถ่ายเหลว

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด 68 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ฯ มีข้อสรุปแล้ว 13 รายว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วม ได้แก่ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย ลิ่มเลือดเป็นจ้ำเลือด 1 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย เยื้อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง 1 ราย เลือดออกในช่องท้อง 1 ราย และเลือดออกในสมองจากความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง 1 ราย ส่วนที่เหลือ 55 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคและรอผลชันสูตร จะรายงานเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์แบบเดียวกันนี้มีในทุกประเทศ เช่น ที่สหรัฐอเมริกาที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปประมาณ 300 ล้านโดส พบการเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนมากกว่า 4 พันราย และผลการตรวจสาเหตการเสียชีวิตพบว่า ไม่มีรายใดเกิดจากวัคซีนโควิด

สำหรับการพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์ในระบบของประเทศไทย คณะผู้เชี่ยวชาญฯ จะรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตที่มีอาการรุนแรง ทั้งมีลักษณะอาการป่วย ระยะเวลาที่ได้รับการฉีดวัคซีนและเริ่มมีอาการ โรคประจำตัวและการรักษาเดิม ครอบคลุมทุกมิติ โดยผลการพิจารณาแบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ 1.เกี่ยวข้องกับวัคซีน 2.เกี่ยวข้องกับคุณภาพของวัคซีน 3.เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉีดวัคซีน 4.เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น อาการชา เอกซเรย์สมองไม่มีสาเหตุ หายได้เองทุกราย 5.เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนแต่บังเอิญเกิดร่วมกัน 6.ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และ 7.ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุป

“กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของประชาชน จะต้องนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้านมาพิสูจน์ทราบเพื่อความชัดเจน และจะพยายามอย่างเต็มที่ ให้ได้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือและมั่นใจ จนถึงขณะนี้วัคซีนยังมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับวัคซีนหลากหลายยี่ห้อที่ฉีดทั่วโลกหลายร้อยล้านโดส” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว