NARIT จับมือ นำวิวัฒน์ ยกระดับเทคโนโลยีวิศวกรรมดาราศาสตร์ เพื่อร่วมกันออกแบบ พัฒนาผลงานทางวิศวกรรม สร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ

169

NARIT จับมือ นำวิวัฒน์ ยกระดับเทคโนโลยีวิศวกรรมดาราศาสตร์ เพื่อร่วมกันออกแบบ พัฒนาผลงานทางวิศวกรรม สร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ยกระดับเทคโนโลยีและวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูง ถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร เพื่อร่วมกันออกแบบ พัฒนาผลงานทางวิศวกรรม สร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ

18 มิถุนายน 2564 – เชียงใหม่ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และนายวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการออกแบบและสร้างผลงานทางวิศวกรรม

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ Covid-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ มี.ค. 63 เป็นต้นมา สดร. ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องช่วยหายใจต้นแบบเพื่อใช้ในยามจำเป็น เมื่อวิกฤตการณ์ Covid-19 รุนแรง จนกระทั่งขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วย ทีมวิศวกรและช่างเทคนิคของ สดร. ร่วมกันออกแบบและสร้างเครื่องช่วยหายใจต้นแบบได้สำเร็จ ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากทีมแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ต่อมา สดร. ได้นำเสนอผลงานการออกแบบและสร้างเครื่องช่วยหายใจต่อคณะกรรมการภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นเหตุให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ให้ความสนใจจะร่วมมือออกแบบและผลิตเครื่องช่วยหายใจในเชิงการค้า หนึ่งในนั้นคือ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ภายในประเทศที่มีผลงานและประสบการณ์มานานกว่า 50 ปี

ความร่วมมือฯ ดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ พัฒนาขีดความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ให้แม่นยำปลอดภัยสูงสุด เพื่อนำไปสู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับใช้งานกับผู้ป่วยและประชาชน

นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สมบูรณ์ พร้อมเข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ รวมถึงจัดทำแผนควบคุม กำกับ ดูแล กระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีการทวนสอบผลิตภัณฑ์ ทดสอบ จัดทำเอกสารการทดสอบทางวิศวกรรม เอกสารโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวิศวกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญระหว่างทั้งสองหน่วยงาน

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ สดร.
จะเป็นหน่วยงานทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันเรามุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมเป็นหลัก เนื่องจากการศึกษาดาราศาสตร์ในระดับที่ยากขึ้นไปต้องอาศัยความก้าวหน้าทางวิศวกรรม เพื่อสร้างอุปกรณ์เครื่องมือ ที่มีความละเอียดแม่นยำสูง สำหรับศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูล เช่นเดียวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องมีความเที่ยงตรง แม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงเพื่อรักษาผู้ป่วย ดังนั้น จึงสามารถนำเทคโนโลยีดาราศาสตร์มาประยุกต์สู่อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ และเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายความสามารถทางวิศวกรรมขั้นสูง ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือในภาคอุตสาหกรรม หรือสาขาอื่นๆ ต่อไป