สสส. ห่วงนักดื่มหน้าใหม่พุ่ง หลังพบเยาวชนไทยเริ่มดื่มอายุไม่ถึง 15 ปี เสี่ยงเกิดโรค NCDs แนะผู้ปกครองไม่ดื่มให้เห็น ป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ ตัดวงจรนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

454

สสส. ห่วงนักดื่มหน้าใหม่พุ่ง หลังพบเยาวชนไทยเริ่มดื่มอายุไม่ถึง 15 ปี เสี่ยงเกิดโรค NCDs แนะผู้ปกครองไม่ดื่มให้เห็น ป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ ตัดวงจรนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย จัดเสวนาออนไลน์ประเด็น “NCDs และนักดื่มหน้าใหม่ ปัญหาท้าทายในสื่อสังคมออนไลน์” เพื่อสะท้อนปัญหาว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเยาวชนและประชาชน เพราะกลุ่มโรค NCDs ทำให้คนเสียชีวิตติดอันดับ 1 ของโลก โดยมี รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย เป็นประธานเปิดวงเสวนา

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก พบผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) ติดอันดับ 1 ของโลก เพราะแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 40 ล้านคน/ปี คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยพบสถิติการเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs ประมาณ 3.9 แสนคน/ปี คิดเป็นร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเรื่องการใช้ชีวิตและการบริโภคอาหาร

ซึ่งผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 เรื่องนักดื่มหน้าใหม่ พบอายุเฉลี่ยของผู้ที่ดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 20.3 ปี ผู้ชายจะดื่มไวกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยผู้ชายจะดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 19.3 ปี และผู้หญิง 23.7 ปี ที่น่ากังวลคือ พบเยาวชนไทยเริ่มดื่มครั้งแรกตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ สูงถึงร้อยละ 12.2

เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ชายและผู้หญิงเริ่มดื่มสุรามากที่สุด คือเลียนแบบเพื่อนหรือเพื่อนชวน ร้อยละ 38.9 รองลงมาคือ อยากทดลองดื่ม ร้อยละ 29.1  และต้องการเข้าสังคมในงานรื่นเริง/งานประเพณี ร้อยละ 17.7 ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งเยาวชนที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีโอกาสติดสุราจนทำให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศ จนนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตที่มากขึ้น

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกลุ่มโรค NCDs จะนึกถึงโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด ที่มักจะเกิดในวัยผู้สูงอายุ แต่ความจริงมันเป็นระเบิดเวลาที่เริ่มจุดตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย แค่การดื่มวันละ 1 แก้ว ก็เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดและโรคทางสมองหรือพัฒนาการทางสมองได้ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เยาวชน มีพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทแย่ลง ส่งผลกระทบต่อประเทศที่จะต้องสูญเสียประสิทธิภาพ ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ

“การป้องการและควบคุมปัญหากลุ่มโรค NCDs ควรเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย แต่ทุกวันนี้เยาวชนกลายเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่วางกลยุทธ์ทางการตลาดทุกช่องทางเพื่อเพิ่มยอดขาย ขณะที่เยาวชนคิดว่าแอลกอฮอล์เป็นไลฟ์สไตล์ เป็นความทันสมัย ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือการเข้าสังคมร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งมีโอกาสทำให้เด็กติดสุราเมื่อเติบโตขึ้นได้ ” นพ.ทักษพล กล่าว