รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่รณรงค์ควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกินในโค-กระบือ และกำกับดูแลการฉีดวัคชีน LSDV ขณะที่สถานการณ์โรคลัมปีสกินจังหวัดเชียงใหม่ มีสัตว์ป่วยสะสมแล้ว 12 ตัว แต่ยังไม่มีสัตว์ป่วยตาย
วันนี้ (27 มิ.ย. 64) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่สหกรณ์โคนมแม่ออน ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ รณรงค์ควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกินในโค-กระบือ และกำกับดูแลการฉีดวัคชีน LSDV โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมส่วนราชการ และเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ร่วมให้การต้อนรับ
ด้านนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานและแนวทางการจัดการรับมือสถานการณ์การเกิดโรคลัมปีสกินที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ทั้งการสนับสนุนการป้องกันโรค การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกรณีสัตว์ป่วยตายด้วยโรคโคลัมปีสกิน การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการจัดทำแผนบูรณาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคในระยะเร่งด่วน
ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคลัมปีสกิน โค-กระบือ และพบโรคลัมปีสกินรายแรก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ในพื้นที่ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5 ราย มีสัตว์ป่วยสะสม 12 ตัว และยังไม่มีสัตว์ป่วยตาย อย่างไรก็ตามได้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาสังคม เกษตรกร ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การป้องกันและกำจัดแมลงพาหะนำโรค รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่สัตว์กลุ่มเสี่ยงอย่างเร่งด่วน ในเขตอำเภอแม่ออน สันกำแพง สารภี และอำเภออื่น ๆ
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำอาหารจากเนื้อโค-กระบือ และรับประทาน เพื่อสร้างความมั่นใจและยืนยันว่าเชื้อไวรัสลัมปีสกิน ไม่สามารถติดเชื้อมาสู่คนได้
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ในโค-กระบือ มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือก อัตราการป่วยอยู่ที่ 5-45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง โดยในโคนมอาจพบน้ำนมลดลง 25-65%
//////////////////
นันธิกา กิจปาโล/ศราวุธ เจิมจันทร์ ข่าว-ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่