ผู้ว่าฯเชียงใหม่ กำชับผู้ที่มาจาก 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัด สแกน CM-CHANA และกักตัว 14 วัน
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 64 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ว่า ห้วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มกำลัง โดยการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน ได้เริ่มการแพร่เชื้อจากกลุ่มคนขนาดใหญ่ในสถานบันเทิง ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบ 2 เดือน จึงควบคุมได้ และในห้วงเดือนมิถุนายน พบการระบาดในประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และเดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งรับเชื้อมาแล้วโดยไม่รู้ตัว จนเกิดการแพร่เชื้อสู่ครอบครัวและชุมชน จึงขอเน้นย้ำผู้ที่เดินทางเข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงกักตนเอง 14 วัน และสแกน CM-CHANA ทั้งนี้ มาตรการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้จะอยู่ในบ้านก็ห้ามละเลยมาตรการโดยเด็ดขาด ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงสำคัญอีกกลุ่มคือ ผู้อยู่ในวัยเรียน ซึ่งจะนำมาสู่สาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ได้ โดยได้ประสานและกำชับไปยังหน่วยงานทางการศึกษา ให้จัดการเรียนการสอน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
จากสถานการณ์ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จังหวัดเชียงใหม่ได้ยกระดับการป้องกันให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มด่านตรวจทางถนนบนทางหลวงหมายเลข 11 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง (ขาเข้าเมือง) 2 จุด ประกอบด้วย ด่านอำเภอสารภี และด่านดอนจั่น อำเภอเมืองเชียงใหม่ เบื้องต้นถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่มีการตั้งด่านตรวจเฉพาะในท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีขนส่งอาเขตและสถานีรถไฟเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีมาตรการโควิดหมู่บ้าน โดยคณะกรรมการโควิดหมู่บ้าน ชุมชน ร่วมตรวจสอบเพิ่มเติมหากมีผู้ที่เดินทางมาจากต่างพื้นที่ดูแลอีกชั้นหนึ่ง ในส่วนของโรงแรม ที่พัก ได้กำชับให้ตรวจสอบ ลงทะเบียนผู้ที่เดินทางเข้าพักอาศัยในความดูแลของตนเองให้มีการกักตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม กรณีเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ให้ยื่นเอกสารรับรองต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อทำการพิจารณาเป็นรายบุคคล และจะต้องใช้หนังสืออนุญาตให้เดินทางออกจากที่อยู่ศัย กรณีคุมไว้สังเกต หรือ แบบ ชม.4 เป็นหนังสือแสดงการเดินทางในพื้นที่
ด้านผู้ที่ลักลอบเข้าเชียงใหม่และไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย. 64) ได้มีการตรวจพบแล้วจำนวน 3 ราย ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้นำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้ว ส่วนแรงงานต่างด้าว ไม่มีการรับเข้าพื้นที่ และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยได้มีการกำชับไปยังสำนักงานจัดหางาน หมั่นลงพื้นที่ตรวจสอบแคมป์แรงงานต่างด้าว และสถานประกอบการ หากพบแรงงานเดินทางมาจากต่างพื้นที่ ซึ่งผิดมาตรการตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จะถูกดำเนินคดีและเข้ากักตัวตามแนวทางต่อไป
นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน ของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ขณะนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วที่ผู้ติดเชื้อกว่า 4 พันคน เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระยะนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อระลอกเดือนเมษายนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จากการที่ ศบค. ได้ออกมาตรการควบคุมโรคในกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชาชนเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ความเปราะบางของจังหวัดเชียงใหม่ว่าอาจเกิดการระบาดระลอดถัดไปได้ จึงได้มีการวางแผนมาตรการที่เข้มข้น เพื่อลดการเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ ทั้งยังเตรียมสถานพยาบาล เวชภัณฑ์ และโรงพยาบาลสนาม ซึ่งยังอยู่ในที่ตั้งเดิม นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมความพร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามสำหรับเด็ก โดยใช้โรงพยาบาลแม่และเด็ก (ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่) ซึ่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปตรวจสอบและให้คำแนะนำการปรับพื้นที่แล้ว เบื้องต้นสามารถรองรับผู้ติดเชื้อเด็กเล็กได้ 300-400 เตียง