กรมการแพทย์ ชี้โรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าฝน เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มักมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่น ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม แนะดูแลอย่างใกล้ชิด และลดความเสี่ยงที่รุนแรงได้โดยการ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

191

กรมการแพทย์ ชี้โรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าฝน เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มักมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่น ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม แนะดูแลอย่างใกล้ชิด และลดความเสี่ยงที่รุนแรงได้โดยการ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

นายแพทย์วีรวุฒิ อิมสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนที่กระจายความเปียกชื้นไปสู่ทุกพื้นที่ของประเทศ และถือเป็นฤดูของเชื้อไวรัสที่มักเกิดในช่วงนี้ ได้แก่โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ถ้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่น อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ การแพร่กระจายเชื้อเกิดจากการไอ จาม ทำให้ละอองน้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อโรคกระจายไปในอากาศบริเวณใกล้เคียง ถ้าเด็กที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สูดหายใจละอองน้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อโรคเข้าไป เชื้อโรคจะเกาะที่เยื่อบุทางเดินหายใจแล้วแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ การติดต่อของไข้หวัดใหญ่สำหรับเด็กยังเกิดจากการสัมผัสเชื้อจากของเล่น เพราะเด็กที่เริ่มป่วยอาการไม่ชัดเจนก็มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ในน้ำมูก น้ำลาย ถ้าเอาของเล่นมาอม หรือไอจามใส่ก็จะมีเชื้อติดอยู่ทำให้ เชื้อไข้หวัดใหญ่ก็เข้าสู่ร่างกายได้
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่าไข้หวัดใหญ่ จะแสดงอาการ ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีกล้ามเนื้ออักเสบ และอาการทางระบบหายใจตั้งเเต่นํ้ามูก ไอมาก หรือหากรุนเเรงอาจมีอาการหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ เสียชีวิต ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่รุนแรงได้โดยการให้เด็กได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง สามารถฉีดได้ตั้งแต่ เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป การป้องกันอื่นๆ ที่จะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ คือล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานทีแออัดและการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สวมหน้ากากอนามัยปิดปาก/จมูก ไม่พยายามเอามือขยี้ตาแคะจมูกหรือเอามือเข้าปากไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น และควรแยกเด็กทีเป็นไข้หวัดออกจากเด็กคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการติดไข้หวัดระหว่างกัน
ที่มา : กรมการแพทย์